‘ไทย’ ล็อบบี้เพื่อนบ้าน หนุนคลื่น 2600 เป็นคลื่นความถี่รองรับ 5G ในภูมิภาคอาเซียน

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) ที่เบื้องต้นนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า จะเป็นการประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน 4 ย่านความถี่ จำนวน 56 ใบอนุญาต แบ่งออกเป็น 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต 2.คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต 3.คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต ซึ่งผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 10 ใบอนุญาต รวม 100 เมกะเฮิรตซ์ และ 4.คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาต ขณะที่ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 12 ใบอนุญาต รวม 1200 เมกะเฮิรตซ์ นั้น มองว่า คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะเป็นที่สนใจของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มากที่สุด เพราะมีความกว้างของแถบคลื่นความถี่ (แบนด์วิดท์) ที่เหมาะสม สามารถรองรับโอเปอเรเตอร์ได้อย่างน้อย 2 ราย ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าอาจจะสามารถรองรับได้ถึง 3 ราย แบบมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละรายน่าจะถือครองคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวได้เกิน 50 เมกะเฮิรตซ์

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า ในภูมิภาคยุโรปมีความชัดเจนว่าคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่กลาง (มิดแบนด์) ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม (เวนเดอร์) ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับอย่างแพร่พลาย แต่สำหรับไทย คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวให้บริการในกิจการดาวเทียมอยู่ ฉะนั้น ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 จึงมีความพยายามที่จะชักจูงให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน นำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ มาเป็นย่านความถี่กลางสำหรับรองรับ 5G ในภูมิภาคอาเซียน จึงยิ่งทำให้คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ยังไม่มีประเทศใดตกลงกับเราในเรื่องนี้ เพียงแต่รับในหลักการ เช่น เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย ที่มีความสนใจในการขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าว เพราะอย่างในภูมิภาคยุโรปที่ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเดินทางไปยังประเทศใดในภูมิภาคก็สามารถใช้งานคลื่นความถี่ย่านเดียวกันได้ ทั้งนี้ กสทช.ได้เน้นย้ำในการประชุมผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน เทเลคอมมูนิเคชั่น เรกูเลเตอร์ เคาน์ซิล (เอทีอาร์ซี) ว่า ให้แต่ประเทศพิจารณาให้คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นย่านความถี่กลางสำหรับรองรับ 5G ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภูมิภาคที่จะมีคลื่นความถี่ 5G ร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายกับประชาชนในการโรมมิ่งข้อมูล” นายสืบศักดิ์ กล่าว