‘ณัฏฐพล’ ดูร่างรับ น.ร.ปี’63 แล้ว ให้กระจายอำนาจสู่พื้นที่ ปัดคอมเม้นท์ ร.ร.ดังสอบ 100%

‘ณัฏฐพล’ ดูร่างรับ น.ร.ปี’63 แล้ว ให้กระจายอำนาจสู่พื้นที่ ปัดคอมเม้นท์ ร.ร.ดังสอบ 100% ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ตนดูรายละเอียดร่างนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 แล้ว ตนเห็นว่าทาง สพฐ.ทำร่างนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน ออกมาดีแล้ว แต่มีประมาณ 15% ที่อยากให้คำนึกถึงความรอบคอบมากกว่านี้ และให้มีปัญหาน้อยที่สุด ทั้งนี้ตนพบบางประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่พอสมควร ซึ่งตนเห็นด้วยหลักการเบื้องต้นของเกณฑ์รับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 ที่จะเน้นการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการมุ่งเน้นให้กระจายอำนาจการบริหารงานต่างๆ เพื่อให้ภูมิภาค จังหวัดและโรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตน แม้ว่าการสั่งงานในการปฏิบัติงานจะมาจากส่วนกลางก็ตาม แต่ศธ.ไม่อยากเอากฎระเบียบไปครอบไว้มาก เพราะสุดท้ายจะทำให้ไม่เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

“เรื่องหลักเกณฑ์การรับนักเรียนนั้น ผมให้ความเห็นและตั้งข้อสังเกตไป ขึ้นอยู่กับ สพฐ.จะนำไปปรับเปลี่ยนปรุงหรือไม่ ทั้งนี้ หลายคนกังวลว่าหากกระจายอำนาจให้พื้นที่ จะทำให้เกิดการทุจริตมากขึ้นนั้น ผมมองว่าในการกระจายอำนาจลงไปสู่พื้นที่ ปัญหาเรื่องการรั่วไหลมีอยู่แล้ว ต้องเอาระบบที่มีการตรวจสอบ การชี้วัด และประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบที่มีอยู่มาใช้ประยุกต์ ซึ่งระบบตรวจสอบนี้ จะต้องไม่ทำให้ครูเสียเวลาจัดการเอกสาร ถ้าโรงเรียนสามารถลงรายละเอียดในแบบที่เรากำหนดเพื่อประเมินและชี้วัดได้ ปัญหาความรั่วไหลต่างๆ อาจจะน้อยลงและหมดไป” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอให้โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงหรือโรงเรียนดังทั่วประเทศ รับนักเรียนด้วยการสอบ 100% นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถ้าโรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ปัญหาการแย่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนดัง หรือแย่งเข้าเรียนในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ก็จะน้อยลง ทั้งนี้โรงเรียนคุณภาพมีอยู่หลายระดับ ศธ.ต้องให้ความสำคัญ ในการหาโรงเรียนที่มีโอกาสสร้างตัวเองให้เท่าเทียมกับโรงเรียนชั้นนำของประเทศให้เจอ เพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป แต่ต้องมีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษาให้เท่ากันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้