“จุรินทร์” เชื่อ รัฐบาลแก้หลักเกณฑ์รธน. ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ไม่ก้าวล่วงฝ่ายค้านรื้อทั้งฉบับ

“จุรินทร์” เชื่อ รัฐบาลแก้หลักเกณฑ์รธน. ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ไม่ก้าวล่วงฝ่ายค้านรื้อทั้งฉบับ เปิดทางแก้รธน.ในอนาคต ยันเคารพความคิดเห็น

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคฝ่ายค้านเสนอตัดแคมเปญเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งฉบับ โดยให้แต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ว่า จุดยื่นของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เปลี่ยนแปลงและได้เสนอเป็นนโยบายรัฐบาลใน 12 ข้อและเมื่อถึงเวลาก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายทั้งเรื่องการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหมวดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากปราการด่านสำคัญที่จะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตเป็นไปได้ยาก และเกือบจะเรียกว่าแก้ไขไม่ได้เลย ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาหรือเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และยังมีเงื่อนไขพ่วงมาอีกหลายข้อ เช่น ในจำนวนเสียงที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้นเป็นฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือเป็นเสียงจากส.ว.ที่ต้องประกอบอยู่ในนั้นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และบางกรณีต้องทำประชามติ ตรงนี้ถือเป็นเงื่อนไขประกอบ แต่ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวล เมื่อการเมืองถึงทางตัน เราไม่อยากเห็นวิถีทางที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่มาของพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขหลักเกณฑ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญในอนาคตแก้ไขได้ง่ายเสียก่อน โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอ และจะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย

เมื่อถามว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญจะได้เสียงสนับสนุนมากกว่าการแก้ไขใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่อยากที่จะไปก้าวล่วงความคิดคนอื่น เพราะทุกคนมีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นตามแนวทางที่ตนคิดว่าควรจะเป็น ซึ่งตนเคารพความคิดเห็นของฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม แต่ในส่วนของรัฐบาลก็มีแนวความคิดเช่นนี้เหมือนกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแก้ไขนั้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก็ต้องหารือในช่วงเวลาที่เหมาะสมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังมองว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ปัญหาความยากจน และปัญหาเกษตรก่อน แต่ยอมรับว่าทั้ง 2 เรื่องสามารถทำควบคู่กันไปได้