“บิ๊กตู่” ปลื้ม อันดับการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย พุ่ง 19 อันดับ เป็นที่ 1 อาเซียน ย้ำเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบและพอใจผลการจัดอันดับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (UN SDGs) ปี 2019 ซึ่งประเทศไทยเลื่อนขึ้น 19 อันดับจากอันดับที่ 59 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 40 ในปีนี้ และถือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จากรายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network – SDSN) และมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung

“นายกฯ กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความพยายามและความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยรัฐบาลเน้นเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลในเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อม คนกับคนหรือการลดความเหลื่อมล้ำ และคนกับเทคโนโลยี ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชา” พล.ท.วีรชนกล่าว

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า สำหรับปีนี้ ประเทศไทยมีคะแนนตาม SDG Index ที่ 73.0 คะแนนเฉลี่ยภูมิภาค 65.7 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเรื่องการขจัดความยากจน การจัดการน้ำและสุขาภิบาล โดยเฉพาะการจัดบริการน้ำดื่มและบริการสุขาภิบาล รวมทั้งการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวัดจากประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น หรือกับผู้ให้บริการการเงินผ่านมือถือ และมีอัตราการว่างงานที่ต่ำ ส่วนในด้านอื่น ๆ ไทยมีแนวโน้มดีขึ้นถึง 6 ข้อ คือ 1) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความเท่าเทียมทางเพศ 3) พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 4) อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 5) เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 6) สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ในรายงานระบุว่า การขจัดความยากจนยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของโลก แต่ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้น จึงสะท้อนว่าเรามีความพยายามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยรัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมความเท่าเทียมด้านรายได้และการลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสและเข้าถึงบริการสาธารณะ ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนได้รับการจัดอันดับ ดังนี้ เวียดนาม อันดับ 54 สิงคโปร์ อันดับ 66 มาเลเซีย อันดับ 68 ฟิลิปปินส์ อันดับ 97 อินโดนีเซีย อันดับ 102 เมียนมา อันดับ 110 สปป.ลาว อันดับ 111 กัมพูชา อันดับ 112 ส่วนบรูไน ไม่ได้รับการจัดอันดับ

มติชนออนไลน์