สภาฯรุมชำแหละแผนปฏิรูปวันที่ 2 ฝ่ายค้านซัดแค่วาทกรรม ปชป.เอาด้วย ไร้ตัวชี้วัด

สภาฯ ชำแหละ แผนปฏิรูปวันที่ 2 ฝ่ายค้าน รุมสับ แค่วาทกรรม ยิ่งปฏิรูปยิ่งเหลื่อมล้ำ – ปราบก็โกงเหลว นั่งสว.กันสลอน ด้าน ปชป.เอาด้วย ซัด แค่แผนราชการไร้ตัวชี้วัด

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่หอประชุมทีโอที มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ มาตรา 270 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (เดือนมกราคม-มีนาคม) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 สมาชิกซีกฝ่ายค้านยังคงอภิปรายแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านอย่างกว้างขวาง โดย น.ส.จิราพร สิทธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 5 ปีที่ผ่านมา ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนจนเพิ่มขึ้น เป็น 14 ล้านกว่าคน แต่มีเพียงคน 1% เท่านั้นที่ถือครองสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จึงตอกย้ำให้เห็นว่า ไทยอยู่ในภาวะรวยกระจุกจนกระจาย มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว เพราะพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ในระดับบน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเจ้าสัว แต่ผู้ประกอบการรายย่อย คนยากจนไม่ได้รับประโยชน์ สะท้อนให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย การปฏิรูปจึงเป็นเพียงทางวาทกรรมเท่านั้นเอง

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายงานปฏิรูปเป็นเพียงภาพที่บอกเท่านั้น แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ จึงมีคำถามว่า แผนปฏิรูปนี้สำคัญจริงหรือไม่ การให้ต้องมารายงานต่อสภาฯทุก 3 เดือน แสดงว่า ความสำคัญต้องเป็นจริง แต่เมื่อถึงเวลาการรายงาน กลับมีการปฏิรูปเพียงไม่กี่กระทรวงเท่านั้น และแผนปฏิรูปครั้งนี้ จะทำได้จริงๆหรือ เพราะเป็นเเผนปฏิรูปของข้าราชการ ไม่ใช่ปฏิรูปของประชาชน การปฏิรูปที่มอบนโยบายแบบผู้ใหญ่ใจดี ผู้ใหญ่รู้ดี ไม่มีทางสำเร็จได้ แผนปฏิรูปจะต้องสัมพันธ์กับแผนแม่บท โครงการปฏิรูปต้องไม่ทับซ้อนกับกระทรวง และจังหวัดที่จะมีทำกันทุกปี ต้องระบุปัญหาสำคัญเร่งด่วนว่า คืออะไร และวัดผลความสำเร็จภายใน 1 หรือ 2ปี

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า แผนปฏิรูปแต่ละเรื่องเขียนไว้อย่างสวยหรู โดยเฉพาะแผนปฏิรูปเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตก็ไม่มีความชัดเจน เพราะทุกวันนี้หลายกรณีไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์ ที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว เดินทางด้วยรถไฟฟรีไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ระหว่างทางก็ถูกทหารจับกุมดำเนินคดี การทำธุรกิจของลูกชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตผบ.ทบ.ที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร โดย พล.อ.ปรีชา ก็ยอมรับกลางสภาว่า มีจริง แต่ก็เอาผิดไม่ได้ รวมถึงเรื่องนาฬิกา 22 เรือนของพ ล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า คนๆหนึ่งจะมีนาฬิกา 22 เรือนไปทำไม ดังนั้น จะเห็นว่า การตรวจสอบภาครัฐ ไม่ว่า คดีไหนก็จะออกมาในทางเดียวกันหมด คือโปร่งใสไม่มีทุจริต และบุคคลที่ถูกตรวจสอบก็ได้เป็นส.ว.กันถ้วนหน้า  การจะปฏิรูปถ้าเปรียบเหมือนกันรีโนเวตบ้าน แต่หน้าบ้านมีขยะเน่าเหม็นไปหมด โดยไม่คิดเคลียร์ขยะและอุดรอยรั่วบนหลังคาบ้านก่อน แล้วจะเรียกว่า รีโนเวตได้อย่างไร

มติชนออนไลน์