ดัชนีความสงบสุข 2018 ไทยร่วงอีก 3 อันดับอยู่ที่ 117

สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (ไออีพี) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย ได้เผยแพร่ดัชนีความสงบสุขโลก (จีพีไอ) ประจำปี 2019 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าดัชนีความสงบสุขของโลกในปี 2019 มีพัฒนาการมากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็นับเป็นพัฒนาการครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 117 ตกลงไป 3 อันดับเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเกือบรั้งท้ายในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่สงบสุขปานกลาง โดยอันดับสุดท้ายในกลุ่มนี้คือ อาร์เมเนีย (อันดับที่ 118)

สถาบันไออีพี ได้จัดอันดับความสงบสุขจากทั้งหมด 163 ประเทศ ในปี 2019 นี้ มีคะแนนเฉลี่ยพัฒนาขึ้น -0.09 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วง 10 ปีหลังสุดดัชนีความสงบสุขลดลงถึง 3.78 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จากอันดับดัชนีจีพีไอทั้งหมด มี 89 ประเทศที่มีดัชนีจีพีไอเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อีก 76 ประเทศมีคะแนนลดต่ำลง โดยไทยอยู่ในอันดับ 117 เป็นหนึ่งในประเทศที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2018 แต่อันดับกลับลดลงมาถึง 3 อันดับจากเมื่อปี 2018 ที่อยู่ในอันดับ 114

สำหรับวิธีการคำนวณดัชนี จีพีไอ จะประเมิน 23 ตัวชี้วัด ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ความขัดแย้งทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงดำเนินอยู่ (อาทิจำนวนและระยะเวลาของความขัดแย้ง จำนวนผู้เสียชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ) ความมั่นคงและปลอดภัยของสังคม (อาทิ จำนวนอาชญากรรม จำนวนผู้ลี้ภัย เสถียรภาพทางการเมือง ฯลฯ) และความเป็นการทหาร (การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ กำลังพล ยุทโธปกรณ์) หากรวมผลเฉลี่ย ค่ายิ่งใกล้ 0 หมายถึง สงบสุขมาก แต่หากค่าเฉลี่ยมากขึ้นจนถึง 3 หรือ 4 นั้นหมายถึงสงบสุขน้อยลง

ทั้งนี้ เมื่อดูในภาคผนวกในแต่ละด้านของประเทศไทยนั้น พบว่า ในด้านความขัดแย้งทั้งในภายในและนอกประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ไทยมีคะแนนเฉลี่ย 2.035 ในขณะที่ซีเรียอยู่ในอันดับสุดท้าย มีค่าเฉลี่ย 3.828 ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางสังคม ไทยได้ค่าเฉลี่ย 2.908 ในขณะที่อันดับสุดท้ายคือ อัฟกานิสถาน อยู่ที่ 4.198 และด้านความเป็นการทหารอยู่ที่ 1.553

ส่วนต้นทุนทางเศรษฐกิจของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คิดเป็น 52,692.9 ล้านบาท หรือ 4% ของจีดีพีประเทศ

อ่านรายงานเต็มทั้งหมดได้ ที่นี่