“อัยการธนกฤต”เเจงยิบ เเก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญาผิด’ข่มขื่น-ชำเรา-อนาจาร-ค้าประเวณี’

“อัยการธนกฤต”เเจงยิบ เเก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญาผิดเกี่ยวกับเพศใหม่ ให้คำนิยามกระทำชำเราชัดขึ้นใช้เป็นอวัยวะกับอวัยวะสอดคล้องคำวินิจฉัยศาลฎีกาส่วน ใช้วัตถุเป็นอนาจารลักษณะร้ายเเรง ยกเป็นอาญาเเผ่นดินยอมความไม่ได้ เว้นคู่สมรส เเต่ต้องไม่ร้ายเเรง หรือต่อธารกำนัล สาระสำคัญ เพิ่มโทษขั้นต่ำชำเราเด็ก เเละให้ลงโทษหนักขึ้นฐานทำให้เข้าใจว่าใช้อาวุธปืนระเบิด ถ่ายคลิป ข่มขืนพี่น้องพ่อเเม่ญาติสายโลหิตในครอบครัว คนชรา ป่วย ไม่มีทางสู้ ส่วนอนาจารเด็กหรือบุคคลจนบาดเจ็บสาหัสโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต ส่วนฐานหารายได้จากค้าประเวณีตัดโทษขั้นต่ำออกให้ศาลใช้ดุลพินิจตามพฤติการณ์

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้โพสต์ความเห็นข้อกฎหมายกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศล่าสุด มีข้อความว่า

การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาครั้งล่าสุดตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น เป็นการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศในหลายประการได้แก่ การปรับปรุงบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะของการกระทำชำเราตามธรรมชาติ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศที่กระทำต่อเด็ก บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้กระทำ และผู้ซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้ ให้ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น และปรับปรุงความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีให้เป็นความผิดฐานแสวงหาประโยชน์จากผู้ซึ่งค้าประเวณี เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญและเหตุผลในการแก้ไข ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนมาจากบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังต่อไปนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” โดยตัดบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” ที่กำหนดอยู่ในมาตรา 276 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสอง และนำมากำหนดไว้ในมาตรา 1 (18) เพื่อจะได้ไม่ต้องบัญญัติบทนิยาม “การกระทำชำเรา” ซ้ำกันในหลายมาตรา และแก้ไขบทนิยามคำว่า“การกระทำชำเรา” ให้มีขอบเขตเฉพาะกรณีการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น เพื่อให้เป็นไปตามลักษณะของการกระทำตามธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา

ส่วนการใช้สิ่งอื่นใดสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นจะไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอีกต่อไป แต่ได้กำหนดให้เป็นความผิดฐานอนาจารในลักษณะร้ายแรงที่ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้นในมาตรา 278 วรรคสอง (กรณีกระทำแก่บุคคล) และมาตรา 279 วรรคสี่และวรรคห้า (กรณีกระทำแก่เด็ก) เนื่องจากการใช้วัตถุอื่นใดที่ไม่ใช่อวัยวะของมนุษย์ล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นไม่ใช่ลักษณะของการกระทำชำเราตามธรรมชาติ แต่มีผลร้ายแรงเทียบเท่ากัน จึงควรกำหนดให้เป็นความผิดฐานอนาจารที่มีลักษณะร้ายแรง โดยกำหนดโทษเทียบเท่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราบุคคลตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กตามมาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แล้วแต่กรณี

2. กำหนดเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและการกระทำความผิดฐานอนาจาร ที่ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น (มาตรา 276 วรรคสอง, มาตรา 277 วรรคสาม, มาตรา 278 วรรคสาม และมาตรา 279 วรรคหก)

มีข้อสังเกตว่าในชั้นพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญยังไม่ได้มีการบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศที่กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดไว้ในร่างกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่ในชั้นพิจารณาร่างกฎหมายวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในร่างกฎหมาย

3. แก้ไขระวางโทษขั้นต่ำของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กในมาตรา 277 วรรคหนึ่ง จาก “จำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8 หมื่นบาทถึง 4 แสนบาท” เป็น “จำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท” เนื่องจากการข่มขืนกระทำชำเราเด็กควรกำหนดระวางโทษสูงกว่าการข่มขืนกระทำชำเราบุคคลตามมาตรา 277 และเพื่อยับยั้งผู้กระทำความผิดไม่ให้กระทำต่อเด็กซึ่งมีความสามารถในการป้องกันตัวเองได้น้อยกว่าผู้ใหญ่

4. กำหนดเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กและอนาจารเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องรับโทษหนักขึ้น (มาตรา 277 วรรคสอง, มาตรา 279 วรรคสอง)

5. กรณีการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่ผู้กระทำเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี กระทำต่อเด็กอายุมากกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นยินยอม ในมาตรา 277 วรรคห้า เดิมทีเดียว มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว อนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกันได้โดยกำหนดเงื่อนไขให้ดำเนินการภายหลังการสมรสแทนการลงโทษ แต่ในการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ตัดข้อความส่วนนี้ออก และได้กำหนดเพิ่มเติมในมาตรา 277 วรรคหก ว่า ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ ในกรณีที่การดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กได้สำเร็จลงตามคำสั่งศาล และศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ในกรณีที่การดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กไม่สำเร็จ

6. เพิ่มการกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตในมาตรา 280 (1) กรณีการกระทำความผิดฐานอนาจารบุคคลตามมาตรา 278 หรือฐานอนาจารเด็กตามมาตรา 279 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส เนื่องจากได้มีการกำหนดความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วยวัตถุอื่นใดซึ่งเป็นการกระทำที่มีลักษณะร้ายแรง จึงสมควรเพิ่มโทษจำคุกตลอดชีวิตในมาตรา 280 (1) ที่เป็นเหตุฉกรรจ์ให้ได้สัดส่วนกัน และเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดบทลงโทษได้อย่างเหมาะสมกับข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดแต่ละกรณี

7. เพิ่มการกำหนดความผิดกรณีการบันทึกภาพหรือเสียงและการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพหรือเสียงของการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจาร โดยให้เป็นการกระทำที่ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นไว้ในมาตรา 280/1 เนื่องจากการกระทำที่เป็นการบันทึกภาพหรือเสียงของการข่มขืนกระทำชำเราหรือการอนาจารเป็นการกระทำที่มีลักษณะร้ายแรง และหากมีการนำภาพหรือเสียงที่บันทึกไว้ออกเผยแพร่จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมและทำให้ผู้ถูกกระทำเสียหายมากยิ่งขึ้น โดยหากได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จะต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ 1 ใน 3 และหากเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

8. กำหนดให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ เนื่องจากเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เป็นภัยของสังคมและเป็นการทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ เว้นแต่เป็นการกระทำระหว่างคู่สมรสเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยการกระทำความผิดจะต้องไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ถึงจะสามารถยอมความได้ และกำหนดให้ความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักซึ่งมีลักษณะร้ายแรงเทียบเท่าการข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ด้วยเช่นกัน โดยยกเว้นกรณีการกระทำระหว่างคู่สมรสที่ไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 281

9. กำหนดเพิ่มเติมจากเดิมในมาตรา 285 ให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศแก่บุพการี พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต และผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศแก่บุคคลดังกล่าว
เป็นเรื่องที่น่าตำหนิติเตียนและขัดต่อศีลธรรมที่ผู้กระทำความผิดควรต้องรับโทษหนักขึ้น มีข้อสังเกตที่ควรพิจารณาว่า คำว่า “ผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด” ซึ่งครอบคลุมผู้อยู่ภายใต้อำนาจบุคคลอื่นทั้งในทางกฎหมายและตามความเป็นจริงนั้น ควรมีความหมายและขอบเขตแค่ไหน เพียงใด

10. กำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศแก่บุคคลซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้เนื่องจากเป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน คนป่วยเจ็บ คนชรา สตรีมีครรภ์ หรือผู้ซึ่งอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ 1 ใน 3 ตามมาตรา 285/2 เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคลที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ (vulnerable person) ซึ่งผู้กระทำความผิดมีโอกาสกระทำความผิดสำเร็จได้ง่ายกว่าการกระทำต่อบุคคลปกติที่สามารถปกป้องตนเองได้

11. ปรับปรุงความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีให้เป็นความผิดฐานแสวงหาประโยชน์จากผู้ซึ่งค้าประเวณี โดยกำหนดให้การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบหรือแสวงหาประโยชน์หรือรายได้จากผู้ซึ่งค้าประเวณีหรือจากการค้าประเวณีต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 286 เป็นความผิด เพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากตามกฎหมายเดิม หากศาลเห็นว่าจำเลยมีรายได้อย่างอื่นอยู่แล้วซึ่งเพียงพอแก่การดำรงชีพ ก็จะไม่มีความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีตามมาตรา 286 แม้จำเลยจะได้รับประโยชน์หรือมีรายได้จากผู้ค้าประเวณีก็ตาม นอกจากนี้ ได้ตัดอัตราโทษขั้นต่ำออก เนื่องจากได้กำหนดลักษณะการกระทำความผิดที่หลากหลายและมีความร้ายแรงต่างกัน จึงควรกำหนดเพียงโทษขั้นสูงเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษตามควรแก่กรณี

12. ตัดบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” ในความผิดฐานกระทำชำเราศพตามมาตรา 366/1 วรรคสอง เนื่องจากบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” ตามมาตรา 1 (18) ต้องกระทำกับผู้อื่นซึ่งมีชีวิตอยู่เท่านั้น จึงไม่สามารถนำคำว่า “กระทำชำเรา” มาใช้กับศพซึ่งไม่มีชีวิตและไม่ถือเป็นบุคคลแล้ว และจึงได้ปรับปรุงองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 366/1 โดยใช้ถ้อยคำว่า “กระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน” แทน “กระทำชำเราศพ”

 

มติชนออนไลน์