ต่างประเทศอินโดจีน : โลกใบเล็กที่ “วานมอน”

“วานมอน” (Van Mon) ก่อตั้งเมื่อปี 1900

ศูนย์พักพิงผู้ป่วยโรคเรื้อนในจังหวัดไท บินห์ แห่งนี้ ถือเป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เก่าแก่ที่สุดในเวียดนามตอนเหนือ และอาจจะเก่าแก่ที่สุดของประเทศอีกด้วย

ทุกวันนี้ หลายคนเรียกขานกลุ่มอาคารแห่งนี้ที่รายล้อมด้วยนาข้าวและป่าละเมาะว่า “หมู่บ้านโรคเรื้อน”

ตอนที่โรคนี้ระบาดสูงสุด วานมอนรองรับผู้ป่วยมากถึง 4,000 คนต่อปี จำนวนดังกล่าวค่อยๆ ลดลงตามลำดับ เมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลงทั่วประเทศจากสุขอนามัยที่ดีขึ้น การสาธารณสุขที่ดีขึ้น และการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบอกว่า ในปี 2017 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ต้องเข้ารับการรักษามีเพียง 248 คน ลดลงกว่าครึ่งจากเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง โลกของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่วานมอนก็หดเล็กลงด้วยเช่นเดียวกัน

 

ผู้ป่วยโรคเรื้อนในเวียดนาม ยิ่งนับวันยิ่งปิดตายจากสังคมภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ โลกของผู้คนแห่งวานมอนจึงหลงเหลือเพียงภายในกำแพงคอนกรีตเท่านั้น

ภายในศูนย์พักพิงแห่งนี้ มีสิ่งบันเทิงให้น้อยมาก ผู้ป่วยโรคเรื้อนถ้าไม่ใช้เวลาระหว่างมื้ออาหารไปกับการสวดในวัดพุทธและโบสถ์คริสต์ภายในศูนย์ ก็นั่งดูโทรทัศน์ หรือรับฟังวิทยุ

ไม่เช่นนั้นก็ต้องขดตัวอยู่ใต้กองผ้าห่มบนเตียง ที่หวังว่าจะสามารถช่วยกันอากาศหนาวเหน็บให้กับตัวเองได้

 

ตรัน หู ฮัว ผู้เฒ่าวัย 80 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสหภาพ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มานับตั้งแต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อนเมื่อปี 1958

ตลอดระยะเวลา 61 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ฮัวไม่เคยคิดว่าเขาจะทำงานหรือใช้ชีวิตแต่งงานได้อีกเลย จนกระทั่งพบภรรยา ผู้ป่วยโรคเรื้อนด้วยกันวัย 54 ปี ที่วานมอนแห่งนี้

“ตอนผมเพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ มีผู้ป่วยราว 2,000 คนเห็นจะได้ ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวทั้งนั้น ซึ่งดีเพราะเราก่อตั้งสหภาพขึ้นมาสนุกๆ”

ตอนนี้ผู้ป่วยหลงเหลือเพียงแค่ 190 คน ส่วนใหญ่ชราภาพ หลายคนต้องใช้ขาเทียมสำหรับเดินเหิน บางคนเสียนิ้วมือไปทั้งหมดเหมือนกับฮัว ทุกคนหายขาดจากโรคแล้ว แต่พิการไปตลอดชีวิต

บางคน อย่างเช่น ฟาม วาน บัค อายุ 83 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์พักพิงแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1960 ถูกครอบครัวปฏิเสธ

ลูกสาวที่เคยมาเยี่ยมอยู่บ้างในระยะแรก ไม่ได้มาเยี่ยมเยียนอีกต่อไปแล้ว หลานๆ นานปีจะมาสักครั้ง

“เหงามาก ไม่มีใครให้ยึดเหนี่ยวอีกแล้ว ผมถึงได้แต่เดินตามคำสอนของพระเจ้า ตายลงเมื่อใดก็คงได้ไปติดตามพระเจ้าจริงๆ”

อีกบางคนปฏิเสธที่จะกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ทางหนึ่งกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นภาระ อีกทางหนึ่งนั้น กลัวว่าจะสูญเสียการดูแลและค่าครองชีพเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับจากรัฐบาลผ่านทางศูนย์แห่งนี้

 

แม้การดูแลและค่าครองชีพที่ว่าจะจำกัดจำเขี่ยเพราะงบประมาณที่ได้รับจากทางจังหวัดและรัฐบาลกลางก็อยู่ในวงจำกัดก็ตามที

อีกบางคนพบพานคนที่เข้าใจซึ่งกันและกัน เหมือนเช่นกรณีของฮัว

เหวียน ทิ ไท ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ ซึ่งยืนยันว่าพ่อแม่ของเธอก็เคยผ่านการรักษาโรคเรื้อนจากศูนย์แห่งนี้บอกว่า การได้พบคนที่รักและเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นแรงจูงใจให้พวกเขามีชีวิตต่อไปและดีขึ้น

ฮัวยืนยันความจริงข้อนี้ ไม่ว่าโลกภายนอกจะกว้างใหญ่เพียงใด ไม่ว่าวานมอนจะเล็กจิ๋วแค่ไหน เขาก็จะยังใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

เมื่อยังมีแรงแย้มยิ้ม ก็ควรยิ้มแย้มให้กับชีวิต

นี่คือบ้านแห่งที่สองของเขา เขาจะอยู่ที่นี่จนวาระสุดท้ายของชีวิต

ฮัวบอกเมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมา ที่ถูกประกาศให้เป็นวันผู้ป่วยโรคเรื้อนโลก