“อ๋อย-เต้น-นิคม” เขียนใบสมัคร ทษช. เปิดใจมาเพื่อภารกิจ เลี่ยงเกมเลือกตั้งที่วางกับดักไว้

มาตามนัด “อ๋อย-เต้น-นิคม-ประภัสร์-วีระกานต์-หมอเหวง-ก่อแก้ว” เขียนใบสมัครพรรค ทษช. ลั่น ไม่ลืมอุดมการณ์รักษา ปชต. “อ๋อย” ย้ำไม่ได้ขัดแย้งกับใครใน พท.

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองเลขาธิการพรรค พท. นางฐิติมา ฉายแสง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุกสิกพงศ์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาสมัครสมาชิกกับพรรคทษช. โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค ทษช.ให้การต้อนรับ

ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่ตัดสินใจตอบรับคำเชิญของพรรค ทษช. มาร่วมงานกันทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน วันนี้ท่านที่มาอยู่ที่แห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าทางการเมือง เป็นทรัพยากรที่สำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การรักษาประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และการสืบทอดอำนาจทุกรูปแบบ รวมถึงให้สิทธิเสรีภาพแก่พี่น้องประชาชน วันนี้ ทษช.แม้จะเป็นพรรคที่มีอายุไม่นานนัก แต่ก็เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจำนวนสมาชิกที่มากด้วยความรู้ความสามารถ ทุกท่านจะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนพรรคของเรา และร่วมสร้างพรรคให้เป็นที่พึ่งพิงแก่พี่น้องประชาชน

ด้านนายจาตุรนต์กล่าวว่า ขอขอบคุณพรรค ทษช.ที่ชวนตนมาร่วมงาน ตนไม่ได้ลาออกจากพรรค พท.เพราะมีความขัดแย้งใดๆ ไม่ได้ขัดแย้งกับผู้บริหารพรรคท่านใด หรือขัดแย้งกับใครในพรรค พท. ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางอุดมการณ์ หรือนโยบาย และไม่ใช่ว่าตนไม่มีบทบาทหรือไม่มีตำแหน่งการทำงาน การมาพรรค ทษช.ไม่ใช่มาเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวของตน แต่โจทย์ที่มาเพราะสถานการณ์การเมืองพัฒนามาถึงขณะนี้ ตนควรจะอยู่ตรงไหนจึงจะทำประโยชน์ และทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้มากที่สุด นอกจากนี้ คิดว่าการจะทำงานเพื่อให้อุดมการณ์ของตนปรากฏเป็นจริงได้อย่างไร วันนี้ประเทศชาติอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสืบทอดอำนาจ และฝ่ายประชาธิปไตย และโจทย์ของฝ่ายประชาธิปไตยวันนี้คือจะทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร ซึ่งหากหยุดยั้งไม่สำเร็จในวันนี้ประเทศไทยอาจอยู่ใต้การปกครองภายใต้การสืบทอดอำนาจของ คสช.ต่อไปอีก 10-20 ปี จะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างมาก ปัญหาต่างๆ ของประชาชนก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ ล่าสุดมีการดึงนักการเมืองที่จะสนับสนุน คสช. ถึงกับประกาศว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา มีการแทรกแซงการทำงานของ กกต.มาเป็นระยะ แทรกแซงการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันระบบกติกาต่างๆ ก็ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอโดยทั่วกัน พรรคการเมืองใหญ่ถูกสะกัดไม่ให้ได้เสียงข้างมาก การออกแบบแบบนี้เหมือนเจาะจงให้มีผลต่อพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคโดยเฉพาะ เมื่อเรารู้เท่าทันในรัฐธรรมนูญและหมากกล เราเชื่อว่าสามารถทำให้พรรคการเมืองพ้นและฝ่าจากกับดักนี้ไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสฝ่ายประชาธิปไตย ลดโอกาสที่เขาจะสืบทอดอำนาจ

“ที่มาร่วมงานกับพรรค ทษช. เนื่องจากที่นี่ได้รวมผู้สนใจการเมือง มีวิสัยทัศน์ ต้องการมีบทบาททางการเมือง ท่านหัวหน้าพรรคได้มาเชิญผม จากการหารือเห็นได้ชัดว่าพรรคนี้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตรงกัน เลยตัดสินใจมา ที่มาไม่ใช่เพราะหนีกับดักส่วนตัว แต่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เพื่อให้พรรคนี้เป็นยานพาหนะ ที่ทำให้พรรคและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงกับดักที่ออกแบบไว้ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน โดยตั้งเป้าจะนำพาพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ 251 เสียง” นายจาตุรนต์กล่าว

ขณะที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ร่วมงานกับพรรค พท. มีแต่ความรัก อบอุ่น ถึงทุกวันนี้ก็รู้สึกดีไม่เสื่อมคลาย จะยืนหยัดต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสันติวิธี ตนได้พูดคุยกับหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ทษช. ต่างมองไปในทางเดียวกันในการต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตย พวกเราจึงเดินทางมาในพรรคนี้ โดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเรียกร้องในสถานะใดๆ แต่ขอเพียงอย่างเดียว ทษช.ต้องไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน หลักการ เมื่อตนตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ขอปวารณาตัวตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย หวังว่าประชาชนจะให้โอกาสพรรค ทษช. แม้เป็นพรรคใหม่ แต่จิตวิญญาณยังคงเดิม ชอบที่พรรคนี้เป็นศูนย์รวมของคนมีความคิดทันสมัยบนรากฐานประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐก็มั่นใจจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นความชัดเจนของฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ตั้งพรรคการเมืองในทำเนียบรัฐบาล ใช้โครงการต่างๆ การเดินสายของรัฐมนตรี ดึงนักการเมืองให้ไปร่วมกัน มาถึงวันนี้ประกาศ รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา มันก็ชัดเจน ในส่วนของการรับมือนั้น เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากที่สุด โจทย์คือ ไม่ให้กลไกรัฐธรรมนูญทำให้เราอ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องเกมเลือกตั้ง ที่เราต้องรู้ทัน และแก้เกม แต่หลักใหญ่การสกัดสืบทอดอำนาจ คือ เราต้องอธิบายกับประชาชนว่า เหตุใดควรสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้เสียงมากที่สุด หากไม่เป็นเช่นนั้น จะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร ส่วนคสช.จะสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เป็นเรื่องพรรคการเมืองต้องประกาศแต่ต้น สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ทำตัวเองให้ชัดเจน ยืนยันความตั้งใจตัวเองให้ชัดเจน

เมื่อถามว่า พรรค พท.ถูกมองว่ามุ่งหวังคะแนนระบบเขต ส่วนพรรค ทษช.มุ่งหวังระบบบัญชีรายชื่อ นายจาตุรนต์กล่าวว่า จะตอบแทนพรรค พท.ก็ไม่เหมาะ หรือจะมาตอบแทนพรรค ทษช.เลยก็ดูไม่ดี เอาไว้ค่อยหารือกันอีกครั้ง

เมื่อถามว่า จะอธิบายต่อประชาชนได้อย่างไร ให้ต้องเลือก พท.ระบบเขต ทษช.เลือกเพื่อบัญชีรายชื่อ การกะเกณฑ์เช่นนี้เป็นการดูถูกประชาชนไปหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่มีใครอธิบายว่า ทษช.จะเน้นปาร์ตี้ลิสต์ พท.มุ่งหวังเขต แต่ที่รู้คือ ทษช.จะต่อสู้ตามกติกา อยู่ที่ประชาชน ได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ อยู่ที่ประชาชน ดังนั้นข้อสังเกตที่ว่า คงเป็นข้อสังเกตที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่ามีข้อสังเกตมีแต่คนเสื้อแดงไปอยู่ทั้งพรรคเพื่อชาติ (พช.) พรรค ทษช. นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นปช.ได้หารือ จะไม่ตั้งพรรคการเมืองในนาม นปช. ส่วนสมาชิกจะไปร่วมงานพรรคใด ถือเป็นเสรีภาพ ตราบใดยืนยันตามหลักประชาธิปไตย ถือเป็นแนวร่วม แต่ถ้าใครไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการ ถือว่าขาดกัน ข้อเท็จจริงที่เคยพูดไว้วันนั้น ยังยืนยันมาถึงทุกวันนี้ นายจตุพร ไปเป็นกองเชียร์อยู่พรรคเพื่อชาติ เรามาอยู่ที่นี่ ก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง เพราะไม่ได้ไปร่วมงานกับพรรคใดไปในนามองค์กร นปช.