นายกฯ ถกอาเซียน-ออสเตรเลีย-จีน ยันหนุนการค้าเสรีเป็นธรรม เติบโตอย่างยั่งยืน

นายกฯ ถกอาเซียน-ออสเตรเลีย-จีน ดันความร่วมมือรอบด้าน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สิงคโปร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย อย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาหารเช้า โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของประชาชนทั้งสองฝ่าย ขอเสนอความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านความมั่นคง ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนและภูมิภาค การเป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลียในการจัดประชุมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรของประเทศสมาชิกอาเซียนในการปฏิบัติตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children: ACTIP) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2562 และการสนับสนุนอาเซียนด้านระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะคลังสิ่งของสำรองจ่ายเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน แห่งที่ 2 ซึ่งไทยมีแผนจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2562

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2. ด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนให้ RCEP บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSMEs ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 จะมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งหน้าสู่อนาคตด้วยความยั่งยืนในทุกมิติ

จากนั้นเวลา 09.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 21 ว่า เพื่อส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีนที่เข้มแข็ง บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเสนอแนวทางการพัฒนา ดังนี้ 1.ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค สนับสนุนการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่าง MPAC 2025 BRI และ ACMECS Master Plan เพื่อปูทางไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEc) ในอนาคต และส่งเสริมการมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในเรื่องการเชื่อมโยงสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในปีหน้าที่ประเทศไทย และยินดีที่จีนในฐานะประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่ง และประเทศคู่ลงทุนอันดับสามของอาเซียน มีความสนใจในโครงการ EEC ตลอดจนข้อริเริ่ม 2+1 ซึ่งนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนจีน-ญี่ปุ่น-ไทย ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2. เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจเชิงยุทธศาสตร์ อาเซียนกับจีนควรร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในทะเลจีนใต้ เช่น การจัดทำ COC ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน การฝึกผสมทางทะเลอาเซียน-จีน และการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ 3.อาเซียนและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ ซึ่งในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนในเรื่องนี้ จึงหวังว่า จีนจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการดำเนินโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมร่วมกับศูนย์อาเซียนด้านต่าง ๆ ที่จะจัดตั้งที่ประเทศไทย