ปธ.กกต. ชี้ “บิ๊กตู่” ใช้โซเชียล ไม่เข้าข่ายหาเสียง ส่วน”พปชร.” ลงพื้นที่ทำได้ ถ้าไม่ใช้ทรัพยากรรัฐ

ปธ.กกต. ชี้ “บิ๊กตู่” ใช้โซเชียล ไม่เข้าข่ายหาเสียง ส่วน”พปชร.” ลงพื้นที่ หากไม่ใช้ทรัพยากรรัฐ-เวลาราชการ ทำได้ ส่วน กิจกรรมการเมืองทำได้แค่ไหน คสช.จะเป็นคนชี้ขาด

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงกรณีการใช้สื่อโซเชียลของนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการหาเสียง แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการคุยกันในรายละเอียด โดยรับทราบเรื่องจากสื่อมวลชนเท่านั้นยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามนิยามของคำว่ากิจกรรมทางการเมืองที่มีระบุไว้ในคำสั่งคสช.นั้น คสช. จะเป็นผู้ชี้ว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ไม่ใช่กกต แต่กกต. จะต้องดูว่าการกระทำใดๆ จะส่งผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกก็เป็นหน้าที่ของกกต. ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นว่าการดำเนินการใดๆยังไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่จะกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็จะยังไม่ดำเนินการ

นายอิทธิพร กล่าวต่อว่า ทางกกต.ได้เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้แล้ว เช่น เรื่องการลงพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ หากไม่ได้ใช้ทรัพยากรรัฐ และเวลาราชการก็ถือว่าทำได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อมูลหลักฐานว่ามีการละเมิดกฎหมายกกต.ต้องดำเนินการแน่นอน เริ่มตั้งแต่พิสูจน์หาพยานหลักฐานและตัดสินว่าการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีหลักฐานครบถ้วนก่อน ทั้งนี้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.มาตรา 22 กำหนดอำนาจหน้าที่กกต.ไว้ว่าให้สอดส่องดูแลเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม เป็นไปชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลาว่าจะต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก่อนจึงจะทำได้ แต่กกต.สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา

ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีปัญหาเรื่องอำนาจทับซ้อนในการควบคุมตามกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งระหว่าง คสช.กับ กกต.ว่า ตนไม่คิดว่าอำนาจทับซ้อนกันระหว่างคสช.กับกกต. แต่ต้องเข้าใจว่าคำสั่งคสช.ถือว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งกกต. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบัน แม้ว่าคสช.มีคำสั่งคลายล็อกแล้วแต่ประเด็นใดที่กกต.เห็นว่าไม่มีความชัดเจนก็จะสอบถามไป รวมถึงมีความเห็นของ กกต.เองด้วย จึงขอยืนยันว่า กกต.ไม่อยู่ในฐานะที่จะเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดได้ ดังนั้น เวลานี้จึงไม่เห็นข้อเท็จจริงใดที่จะนำไปสู่ความกังวลว่าจะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยขณะนี้กกต.อยู่ในช่วงการเตรียมการเลือกตั้ง การแบ่งเขตที่ภายในวันที่ 17 ตุลาคม ทุกจังหวัดจะเสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นมายัง กกต.เพื่อพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตที่ดีที่สุดต่อไป นอกจากนี้เราก็จะเร่งรัดเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง