“บลูมเบิร์ก” ชี้คนรวยในอาเซียนโตต่อเนื่อง

“อาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกและเป็นกลุ่มที่นักลงทุนทั่วโลกมองว่ามีโอกาสเติบโตมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มคนรวยในบางประเทศอาเซียนที่มีแนวโน้มสดใสขึ้นเรื่อย ๆ” แมกกี้ อึง หัวหน้าฝ่ายการขายตลาดอาเซียน จาก Bloomberg LP ระบุ

“แมกกี้ อึง” ระบุว่า อาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่น่าจับตามองมากที่สุดในปัจจุบัน โดยการรวมกลุ่มของ 10 ชาติสมาชิกที่ดำเนินไปในรูปแบบบูรณาการ แม้ว่าสมาชิกอาเซียนมีแผนต้องการบรรลุการเป็น “ตลาดร่วม” หรือ common market แต่ก็มีความแตกต่างจากรูปแบบของสหภาพยุโรป (อียู) ที่วันนี้พิสูจน์แล้วว่าอาจจะไม่ใช่โมเดลที่เหมาะสม

“แทมมารา แฮนเดอสัน” นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence ASEAN ระบุว่า การรวมกลุ่มของอาเซียนนั้น จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และเน้นที่การเคลื่อนย้ายเสรีบางประเภทเพื่อความคล่องตัวในการพัฒนา เช่น สินค้าและบริการการลงทุน แรงงานมีทักษะ รวมไปถึงการไหลเวียนของเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และยุทธศาสตร์การเป็นฐานการผลิตเดียว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศในอาเซียนไม่ได้มีนโยบายที่จะผลักดันการใช้ “เงินสกุลเดียว” เหมือนกับอียู

ขณะเดียวกันแฮนเดอสันก็มองว่า แนวทาง “เงินสกุลเดียว” ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน เพราะจากความตึงเครียดจากวิกฤตเบร็กซิตที่ยังลุกลามในตอนนี้ เบร็กซิตจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยในการกำหนดทิศทางการเติบโตของอาเซียนในอนาคต

นอกจากนี้นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กมองว่าอาเซียนมีความระมัดระวังมาก เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมถึงการไหลของเงินทุนซึ่งแตกต่างจากอียูอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะการเปิดเสรีทางการเงินถือเป็นการเปิดรับความเสี่ยงจากภายนอก ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจให้เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ

“จุดแข็งอาเซียนในฐานะประเทศตลาดเกิดใหม่ก็คือ รัฐบาลต่างพยายามปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นจากเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ในหลายประเทศ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา และโครงการไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลไทยผลักดันอย่างหนัก”

ที่น่าสนใจคือ บลูมเบิร์กมองว่า “จีน” สามารถเป็นโมเดลในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่ดีให้กับอาเซียนได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมากกว่า อีกทั้งยังมีอิทธิพลในหลายอุตสาหกรรมของอาเซียน ซึ่งจากความสำเร็จของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนเป็นประเทศสู่ “สังคมไร้เงินสด” เพียงเวลาไม่กี่ปีอาจเอื้อต่อยุทธศาสตร์การผลักดันให้อาเซียนเป็น “smart city-smart region” ได้เร็วขึ้น

แมกกี้ อึง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางในอาเซียน รวมทั้งการเติบโตของกลุ่มคนรวยที่มากขึ้นในบางประเทศอาเซียน ถือเป็นปัจจัยที่โดดเด่น โดยเฉพาะประเทศไทย บลูมเบิร์กจึงมองเห็นถึงศักยภาพในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ของธุรกิจ “wealth management” หรือการบริหารความมั่งคั่ง รวมถึงการเติบโตของตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซึ่งรายงานจากหลาย ๆ สถาบันทางการเงินยืนยันได้ว่า ไทยเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่งอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่น่าจับตามอง ในแง่ของกำลังการซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นด้วย

และจากการขยายตัวของชนชั้นกลาง ทำให้บลูมเบิร์กให้ความสำคัญต่อตลาดเกิดใหม่อย่างอาเซียน ในการเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยในการวางแผนลงทุน เพื่อจัดการสินทรัพย์ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด พร้อมกับนำเสนอแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Bloomberg terminal” ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และมีความโปร่งใสเชื่อถือได้ โดยปัจจุบันครอบคลุมแล้วกว่า 176 ประเทศทั่วโลก

แมกกี้ อึง กล่าวทิ้งท้ายว่า บลูมเบิร์กให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มแบบบูรณาการของอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยมองว่าแม้จะเป็นการรวมกลุ่มสมาชิกแบบหลวม ๆ แต่มีทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันชัดเจน เพียงแต่จำเป็นต้องหารือกันมากขึ้น บลูมเบิร์กจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดประชุมสัมมนา “ASEAN Business Summit” ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนของอาเซียน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงินโลกที่มีความผันผวนตลอดเวลา