สื่อนอกตีแผ่ ‘ฮุน เซน’ เดินสูตร ‘ทุบฝ่ายต้าน-หว่านซื้อใจชาวบ้าน’ หวังกำชัยเลือกตั้ง ก.ค.นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์สได้เสนอบทวิเคราะห์การเมืองกัมพูชาที่อยู่ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน กรกฎาคมนี้ โดยล่าสุด สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ออกไปปราศรัยกับคนงานโรงงานสิ่งทอ 16,000 คน ให้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรครัฐบาลพร้อมกับมอบขวัญกับคนที่เลือก โดยประกาศว่าถ้าชนะเลือกตั้ง พรรครัฐบาลจะให้เงินเป็นของขวัญ อย่างเช่น จะให้เงิน 2 หมื่นเรียล (หรือประมาณ 157 บาท คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 127 เรียล) เป็นของขวัญ และถ้าหลานคนใดตั้งครรถ์ ก็จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มอีก ต่อมา ปลัดกระทรวงมหาดไทยออกมาปกป้องว่า เป็นเงินของรัฐบาล ส่วนโฆษกพรรครัฐบาลออกมากล่าวว่าพรรคไม่ได้ออกมาแจกเงินให้ชาวบ้าน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และฮุน เซนซึ่งปกครองกัมพูชามากว่า 30 ปี พยายามทำทุกอย่างเพื่อรับประกันชัยชนะอีกครั้ง หลังจากที่การเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันคือ จูงใจประชาชนด้วยเงินและสารพัดบทลงโทษต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

จากข้อมูลของนักวิเคราะห์ สิ่งที่ฮุน เซนทำ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกัมพูชา ในสถานะความเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่ากรณี การจับกุมนายเขม โสกา หัวหน้าพรรคกอบกู้ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พี พรรคฝ่ายค้านสำคัญที่มีอิทธิพลทัดเทียมกับพรรครัฐบาล หรือการยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีในอีก 2 เดือนต่อมา ทำให้สมาชิกพรรคเกือบ 5 พัน ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิิกพรรคซีพีพีของรัฐบาล รวมถึงการปิดกั้นสิทธิพลเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก หรือแม้กระทั่งการปิดสำนักข่าวอิสระและคุมตัวสื่อมวลชนด้วยกฎหมาย

นายโซฟาล เอีย นักวิเคราะห์ชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯกล่าวว่า ฮุน เซน ที่กลัวหลังคะแนนเสียงลดลงจากการเลือกตั้งล่าสุด จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อรับประกันว่าตัวเองจะได้ครองอำนาจต่อ

“ฮุน เซน รู้แล้วว่าการทำด้วยทุกวิธีการที่จำเป็น เป็นหนทางเดียวที่จะรักษาอำนาจต่อไป ฮุน เซนวางแผนแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม การควบคุมยังคงตกเป็นของฮุน เซนและครอบครัวต่อไป” นายโซฟาล กล่่าว

แต่สำหรับฝ่ายค้าน ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์การเมืองและสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีการใช้เงินหาเสียง

แม้พรรครัฐบาลจะใช้วิธีที่ไม่ใสสะอาด แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กัมพูชา กลับสนับสนุนการกระทำของฮุน เซน โดยโฆษก กกต.กัมพูชาระบุว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ย่อมเป็นสิทธิในการบริหารสังคม

ไม่เพียงเท่านี้ รอยเตอร์สได้เอกสารและการรายงานของวอยซ์ ออฟ อเมริกาที่ระบุว่า พรรคซีพีพียังได้จัดสรรเงินให้สมาชิกที่เข้ามายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคอีกด้วย โดยโฆษกพรรคกล่าวว่า พรรครัฐบาลมีอัตราสมาชิกโยกย้ายพรรคต่ำมาก เพราะสมาชิกหลายคนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ต่างประเทศ

ด้านแคโรไลน์ ฮิวส์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยนอทเทอร์ดัม กล่าวว่า การชนะเลือกตั้งแบบหวุดหวิดของพรรครัฐบาลทั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2556 และเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2559 ที่ทำให้พรรคฝ่ายค้านอย่างซีเอ็นอาร์พีได้คะแนนเสียงเพิ่มกว่า 40% สะท้อนการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในสังคมกัมพูชา โดยอย่างแรกคือ การแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย และการเพิ่มของประชากรวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีความทรงจำในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือสงครามกลางเมืองที่ทำให้กัมพูชาต้องชะงักมาถึง 2 ทศวรรษแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกังวลทางเศรษฐกิจ

“พวกเขาไม่อยากทำไร่นาของครอบครัว แต่กลับไปทำงานในโรงงาน ไม่ว่าจะในพนมเปญ หรือประเทศไทยหรือเกาหลีใต้ นี่เป็นคนรุ่นที่จะบอกว่า “คุณทำอะไรลงไปกับเรา”” ฮิวส์ กล่าว

ฮิวส์กล่าวอีกว่า การที่คนงานมีรายได้ระดับต่ำและข้าราชการมีรายได้สูงกว่า 2 เท่านับตั้งแต่การเลือกตั้งล่าสุด ทำให้เห็นว่าแนวคิดการแบ่งแยกของซีพีพีสร้างความสงบและเสถียรภาพให้กับรัฐบาล จึงไม่อยากเชื่อใครก็ตามที่พูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ใสสะอาด

ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านอย่างซีเอ็นอาร์พี ได้ออกมาประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง โดยนายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศระบุว่า อนุญาตให้ผู้สนับสนุนออกมาตัดสินความชอบธรรมของฮุน เซน อย่างไรก็ตาม กกต.กัมพูชาได้ออกมากล่าวว่า การประกาศบอยคอยดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

“มันถูกกฎหมายหากคุณเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ แต่หากคุณรณรงค์ให้พวกเขาไม่ไปลงคะแนนเสียง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น” กกต.กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกร สว่าง ผู้ประสานงานคณะกรรมการการเพื่อเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมของกัมพูชา ยังกล่าวว่า กฎหมายการเลือกตั้งของประเทศถูกตีความบนแรงจูงใจทางการเมืองและสนับสนุนรัฐบาล

“การประกาศบอยคอตจึงเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง และไม่ได้ขัดขวางการใช้สิทธิของพลเมือง” นายกร กล่าว

นอกจากนี้ บนโลกโซเชียลในกัมพูชาก็ไม่ปลอดภัย โดยนายคุง ไรยา นักเคลื่อนไหววัย 27 ปีที่เคยถูกจับขังฐานวิจารณ์รัฐบาลก็กล่าวว่า มีการโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลบนเฟซบุ๊กน้อยมาก ผู้คนพยายามเขียนเรื่องอื่นแทน ไม่ต้องการแชร์หรือแสดงความเห็นเพราะความกลัวหลังจำนวนผู้ถูกจับกุมที่มากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้กล่าวว่าได้เตรียมเจ้าหน้าที่ถึง 3 กระทรวงในการสอดส่องความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ ด้วยข้ออ้างเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล อีกทั้ง กระทรวงมหาดไทยกัมพูชา กล่าวว่า สื่อหลายสำนักถูกปิดตัวเพราะพวกเขาฝ่าฝืนกฎหมาย

“การปราบปรามสื่อจึงเกิดขึ้นเพื่อหยุดความวุ่นวาย มันไม่สำคัญว่าคุณพูดได้ทุกอย่าง แต่คุณต่างหากที่ต้องเลือกเองว่าพูดอะไรดีที่สุด” นายฮุย วานนัก เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยกล่าว