เมอร์คิวรี่ : จับกระแสลูกหนัง “เวิลด์คัพ 2018” มหกรรมฉีดกระตุ้น “เศรษฐกิจโลก”

การแข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2018” ที่ประเทศรัสเซีย เปิดฉาดฟาดแข้งกันในช่วงวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561 ซึ่งถือเป็นมหกรรมการกีฬาลูกหนังโลกที่มวลมนุษยชาติทั่วทั้งโลกต่างเฝ้ารอคอยมาเป็นเวลายาวนานถึง 4 ปี…

ถือเป็นมหกรรมที่ช่วยกระตุ้นมิติในหลายด้าน และปลุกกระแสคนทั่วโลกให้ตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง!

เจ้าภาพ “รัสเซีย” ลงทุนทุ่มงบประมาณในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้เป็นจำนวนเงินมหาศาลถึงกว่า 1,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือประมาณ 62,000 ล้านบาท

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ The Statistics Portal แจกแจงเงินลงทุนในส่วนต่างๆ ของรัสเซีย ดังนี้

ค่าโลคอล ออร์กาไนเซชั่น 627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท

ค่าทีวีโปรดักชั่น 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,716 ล้านบาท

ค่าคลับ บีเนฟิตส์ โปรแกรม 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,692 ล้านบาท

ค่าดำเนินการด้านไอที 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,500 ล้านบาท

ค่าดำเนินการด้านการซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,985 ล้านบาท

ค่าเตรียมการความพร้อม 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,536 ล้านบาท

ค่าสถานที่พักของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,280 ล้านบาท

ค่าประกันภัยตลอดทั้งอีเวนต์ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,024 ล้านบาท

เงินรางวัล 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,808 ล้านบาท

และงบฯ ในส่วนอื่นๆ อีกว่า 211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,756 ล้านบาท…

 

นอกจากนี้ รัสเซียได้สร้างโรงแรมขึ้นใหม่ 70 แห่งทั่วประเทศ และได้ปรับปรุงโรงแรมเดิมให้มีมาตรฐานที่ดี รวมทั้งได้ปรับปรุงสนามบินในเมืองเจ้าภาพ เพื่อเตรียมการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะรองรับแฟนบอลที่คาดว่าจะมีจำนวนถึงกว่า 1.3 ล้านคน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับศึก “ฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2018” ในครั้งนี้

สำหรับการคาดการณ์จะมีแฟนบอลเข้ามาร่วมกับเวิลด์คัพ 2018 กว่า 1.3 ล้านคน แต่อาจจะมากกว่านั้น เนื่องจากไม่ใช่ว่าคนที่มีตั๋วเท่านั้นที่จะเดินทางมาที่รัสเซีย แต่คนที่ไม่มีตั๋วเข้าชมก็สามารถมาซึบซับบรรยากาศด้านนอกสนาม แฟนโซน ร้านอาหาร บาร์ รวมทั้งชมการถ่ายทอดสดในโรงแรมได้ เพราะฟุตบอลโลกใครๆ ก็อยากจะเข้ามาสัมผัสสักครั้ง

“ฟุตบอลโลก” จึงกลายเป็นมหกรรมที่สร้างเม็ดเงินรายได้จากส่วนต่างๆ ได้อย่างมากมาย

 

ฟุตบอลโลกครั้งนี้นอกจากนับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียได้เป็นเจ้าภาพแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกเตะในสองทวีป คือทวีปเอเชีย และยุโรป เนื่องจาก “เมืองเยกาเตรินเบิร์ก” หนึ่งในเมืองที่มีสนามแข่งขันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างสองทวีปดังกล่าวอีกด้วย

ขณะที่อีก 9 เมืองที่เป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วย “กรุงมอสโก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, โซชิ, รอสตอฟ, คาลล์นินกราด, ซามาร่า, คาซาน, นิซห์นี่ นอฟโกรอด” และ “วอลโกกราด” โดยแต่ละเมืองจะมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความน่าสนใจเฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป

ศึกฟุตบอลโลก 2018 ยังจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่หลากหลายของรัสเซียให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากขึ้น โดยจะเป็นการนำฟุตบอลเป็นตัวเชื่อมให้คนทั่วโลกเข้าใจวิถีชีวิตของชาวรัสเซียยิ่งขึ้น โดยแน่นอนว่ามหกรรมลูกหนังโลกครั้งนี้จะมีผู้ติดตามจำนวนมากจากทั่วทั้งโลก ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินรายได้ให้รัสเซีย และกระจายไปสู่ทั่วทั้งโลก

ขณะเดียวกันได้มีการประเมินยอดผู้รับชมไว้ว่า คนทั่วโลกจะรับชมฟุตบอลโลกผ่านทางการถ่ายทอดสด รับฟังการบรรยายจากวิทยุ รวมทั้งติดตามทางโซเชียลมีเดียทั่วโลกรวมกัน 3,500 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันฟุตบอลโลกเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว!

 

ในส่วนของประเทศไทย ทางภาครัฐโดย “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” ได้ร่วมมือกับ 9 บริษัทเอกชน ร่วมกันซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 จำนวน 1,400 ล้านบาท เพื่อนำสัญญาณถ่ายทอดสดให้ประชาชนชาวไทยได้รับชมการแข่งขันครบทั้ง 64 แมตช์ ตั้งแต่นัดเปิดสนามจนถึงนัดชิงชนะเลิศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จำแนกจากยอดรวม 1,400 ล้านบาท ได้ดังนี้ “บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” บริษัทละ 200 ล้านบาท

ขณะที่ “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)” 100 ล้านบาท, “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” 50 ล้านบาท , “บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด” 50 ล้านบาท โดยจะมีเครือข่ายถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวี 3 ช่อง คือ ทรูโฟร์ยู ช่อง 24, อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

ทั้งนี้ แต่ละ 9 บริษัทเอกชน ต่างจัดแคมเปญโปรโมตการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 และร่วมสนุกกับแฟนบอลชาวไทยกันอย่างมาก เพื่อเป็นการกระตุ้นสร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นกับแฟนบอลชาวไทย ซึ่งมีกระแสจากหลายคนว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้ค่อนข้างเงียบเหงา ต่างจากครั้งก่อนที่ผ่านมา และแตกต่างจากสังคมโลกพอสมควรเลยทีเดียว

มีการวิเคราะห์ว่า บรรยากาศฟุตบอลโลกครั้งนี้ในเมืองไทยค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากว่า การถ่ายทอดจำกัดในทีวีเพียง 2-3 ช่องเท่านั้น ซึ่งผิดจากในอดีตที่มีการกระจายช่องถ่ายทอดสดกัน ทำให้คนสามารถติดตามได้ค่อนข้างมาก

อีกทั้งช่วงเวลาในการโหมโรงปลุกกระแสการแข่งขันครั้งนี้ค่อนข้างกระชั้นชิดจนเกินไป

 

ขณะที่บรรยากาศโดยรวมของประเทศก็ส่งผลต่อกระแสการติดตามฟุตบอลโลกอยู่พอสมควร ซึ่งมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน กระแสสังคม กระแสการเมือง รวมทั้งกระแสการอนุรักษนิยม หรือกระแสความเป็นไทย จึงทำให้ความนิยมความเป็นสากลหรือ” “โกลบอลไลฟ์เซชั่น”” ลดลงไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศฟุตบอลโลกในไทยจะไม่คึกคักมากเท่าที่ควร แต่นักลงทุนก็ยังเชื่อมั่นว่า ศึกฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2018 จะมีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสธุรกิจต่างๆ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีดตัวสูงขึ้นจากที่ผ่านมาหลังเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีหลังค่อนข้างซบเซา

ข้อมูลจาก “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เปิดเผยยอดเงินสะพัดในไทยช่วงฟุตบอลโลกจำนวนทั้งสิ้น 78,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงการแข่งขันฟุตบอล “ยูโร 2016” แบ่งเป็นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 17,901 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและการสังสรรค์ 15,434 ล้านบาท

รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์รับสัญญาณ 2,467 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 1,488 ล้านบาท แต่ยังมีเม็ดเงินส่วนที่เหลือใช้จ่ายหมุนเวียนนอกระบบเศรษฐกิจสูงถึง 58,995 ล้านบาท ซึ่งก็คือเงินในวงการเล่นพนันฟุตบอล

ทำให้ศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวเพิ่มเพียง 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลโลก 2018 ยังถือว่ามีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในประเทศรัสเซีย และในประเทศไทยเองที่แม้ว่าบรรยากาศการเชียร์ และการติดตามที่ผ่านมายังไม่คึกคักเท่าที่ควรนัก แต่ยังมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย และหากคนไทยยิ่งตื่นตัวกับฟุตบอลโลกมากกว่านี้ก็ยิ่งส่งผลดียิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

เชื่อว่าในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 หากผู้คนรอบข้างให้ความสนใจกับการแข่งขันกันทั้งนั้น คุณก็จะถูกหล่อหลอมจนกลายเป็น “อุปทานหมู่” ร่วมอยู่ในกระแสฟุตบอลโลกไปโดยปริยาย และก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่จะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจชาติอีกด้วย

ฟุตบอลโลก 2018 ถือว่าเป็นมหกรรมที่ทุกคนสามารถร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งสำคัญไม่ควรนำเม็ดเงินไปใช้จ่ายหมุนเวียนนอกระบบ โดยเฉพาะเรื่องการพนันฟุตบอล

เพราะมิเช่นนั้นแล้ว คุณอาจติดลบในทุกด้านจากมหกรรมลูกหนังโลกในครั้งนี้…