วงค์ ตาวัน : ความตายของคนญี่ปุ่น

วงค์ ตาวัน

เปิดม่านฤดูการท่องเที่ยวประเทศไทยปีนี้ด้วยข่าวคราวที่ไม่ดีนักกับบ้านเรา เมื่อเกิดเหตุรถตู้ที่นำนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นซึ่งยกคณะ 4 คน บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วออกท่องเที่ยวใน กทม. ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา

ระหว่างทางบนถนนในเขต อ.บางปะอิน รถตู้ไปชนท้ายรถบรรทุก 10 ล้ออย่างรุนแรง จนไฟลุกท่วม

เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งเดินมาทางมาถึงไทยได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต้องเสียชีวิตทั้งหมด พร้อมไกด์คนไทย รวม 5 ศพ

จากการสอบสวนพบว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากคนขับรถตู้หลับใน

“ซึ่งเป็นปมเหตุที่น่าเศร้าและส่งผลลบต่อภาพพจน์การท่องเที่ยวอันไร้มาตรฐานของบ้านเรา”

ขณะที่สื่อมวลชนในญี่ปุ่นเสนอเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องทันที

ไม่เพียงเพราะคนของเขาต้องมาเซ่นสงเวยชีวิตให้กับปัญหาความบกพร่องของบุคลากรในบ้านเรา

“แต่ยังเป็นเพราะ 2 ใน 4 ชาวญี่ปุ่นที่เอาชีวิตมาทิ้งในไทยนั้น เป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง!”

นายนาริโมโตะ คาซึฮิโกะ อายุ 65 ปี ประธานอำนวยการโรงพยาบาลนาริโมโตะเลดี จ.โอซาก้า ได้เดินทางมากับลูกสาวคือ นาริโมโตะ ฮารุกะ อายุ 30 ปี และ นายโคเมอิมะ โยชิโอะ อายุ 68 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลทาเคดะ จ.เกียวโต เดินทางมาพร้อมกับภรรยา คือ โคเมอิมะ คุมิโกะ อายุ 59 ปี

ในรายงานข่าวของสำนักข่าวเกียวโดระบุว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางออกจากนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาที่กรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยมีกำหนดการเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 10 พฤศจิกายน แต่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน

“รวมทั้งยังรายงานด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าหลายประเทศใกล้เคียง แต่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดติดอันดับโลก!?”

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยประมาณ 24,000 คน อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศไทย

โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคน

ฟังดูแล้ว อาจจะไม่บ่งบอกว่า เหตุร้ายครั้งนี้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นชะงักหรือลังเลมาเที่ยวในไทย

อาจเป็นเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวคาดหวังมาตรฐานเหล่านี้จากเมืองไทยก็เป็นได้

แต่มองอีกด้าน เกิดเหตุร้ายบ่อยๆ จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติจริงหรือ

นั่นจึงเท่ากับว่า ทางการไทยควรจะต้องมีมาตรการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะกระทบกับรายได้การท่องเที่ยวจนกู่ไม่กลับ!

เป็นที่รู้กันดีว่า ในประเทศที่มีมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวสูงนั้น เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การควบคุมประสิทธิภาพของผู้ทำหน้าที่ขับรถให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดสุดขีด มีกำหนดชั่วโมงในการขับรถ ซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งไว้พร้อมกับระบบขับขี่

ในระหว่างเดินทาง เจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจสอบจากข้อมูลในการ์ดได้ตลอดเวลาว่า ผู้ขับขี่ได้ปฏิบัติตามกฎเรื่องเวลาในการขับ และการพักรถเพื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอหรือไม่

ในการรับประทานอาหารระหว่างทำหน้าที่ขับรถท่องเที่ยว หรือการพักค้างคืนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จะต้องได้กินอาหารที่ดีพอๆ กับนักท่องเที่ยว ได้พักในห้องโรงแรมระดับเดียวกับนักท่องเที่ยว

เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอและอย่างดีพอ สามารถทำหน้าที่ขับรถได้อย่างสมบูรณ์แบบและปลอดภัยกับชีวิตนักท่องเที่ยวในรถทั้งคัน

“ระบบแบบนี้ไม่เคยมีในบ้านเรา และยังไม่เคยได้รับการพูดถึง”

เราจึงเกิดปัญหาโชเฟอร์หลับใน หรือวูบหลับระหว่างทาง เพราะต้องขับรถยาวนานเกินความเป็นจริง ไปจนถึงแอบจิบแอบดื่มจนขาดสติ

การกินอาหารก็เน้นถูกๆ การพักผ่อนหลายครั้งก็เห็นนอนในรถนั่นแหละ ซึ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพแน่นอน

ขณะที่คนทั่วโลกเดินทางหลั่งไหลไปมาระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อทำธุรกิจการค้า ไปจนถึงท่องเที่ยว

“ความเชื่อมั่นต่อระบบความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารย่อมมีส่วนในการดึงดูดนักท่องเที่ยวแน่ๆ”

จึงเป็นคำถามต่อกระทรวงการท่องเที่ยว หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยงานดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เช่น กรมการขนส่งทางบก ตำรวจทางหลวง ไปจนถึงตำรวจท่องเที่ยว

“สมควรจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ได้หรือ!?”

แน่นอนว่า ความสวยงามของแหล่งธรรมชาติ ป่า เขา เกาะแก่ง ชายหาด ท้องทะเลของบ้านเรานั้น เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมากด้วยคุณค่า งดงามจนสามารถจูงใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย

หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งย่างเข้าหน้าหนาวเช่นนี้ กลายเป็นว่าสภาพอากาศในบ้านเรา เป็นที่ปรารถนาของชาวยุโรป ชาวอเมริกา หรือเมืองหนาวในหลายๆ ประเทศ ที่ต้องเผชิญช่วงหิมะตกภายใต้สภาพอากาศที่เหน็บหนาวทารุณ

จำนวนไม่น้อยเลือกจะมาหลบหนาวในบ้านเรา เพราะหนาวของเราคือความเย็นสบายของผู้คนในดินแดนหิมะ

เหล่านี้คือสภาพธรรมชาติที่ลงตัวอย่างมากของบ้านเรา เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่กันมากมายในฤดูนี้

ทำอย่างไรไม่ปล่อยให้ปัญหาความไร้มาตรฐานหลายๆ ด้านของเรา เป็นเครื่องทำลายความงดงามของเราเอง

ความตายของ 4 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในบ้านเขา แม้จะยังไม่มีอะไรบ่งบอกชัดเจนว่าจะกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เตรียมจะมาท่องเที่ยวในไทย

แต่ก็เป็นปัญหาที่เราต้องพึงระวัง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีเรื่องใหญ่ที่ยังค้างคาอยู่อีกเรื่อง ก็คือ การตายของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ (Hiroyoki Muramoto) สัญชาติญี่ปุ่น ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งถูกกระสุนปืนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุม นปช. ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ ใกล้สี่แยกคอกวัว

“โดยนายฮิโรยูกิ ถูกกระสุนปืนทั้งที่กำลังถือกล้องถ่ายภาพวิดีโอ ท่ามกลางเหตุชุลมุนปะทะกันระหว่างทหารที่ขอคืนพื้นที่กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็น 1 ใน 99 ศพ”

ความที่เป็นสื่อมวลชน ทำหน้าที่รายงานความจริงให้กับคนทั่วโลก เมื่อมาเสียชีวิตในเหตุจลาจล จึงทำให้คนทั้งญี่ปุ่นจับตามองความคืบหน้าของเหตุการณ์นี้มาก

ที่น่าสะเทือนใจอีกประการ หลังเกิดเหตุไม่นาน ระดับรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ถึงกับบินมาไทย เพื่อเดินทางไปวางพวงมาลาแสดงความอาลัยต่อนายฮิโรยูกิ ตรงจุดเกิดเหตุที่เขาถูกยิงตาย

อย่างไรก็ตาม แม้คดีการตายของนายฮิโรยูกิ จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ทำเป็นสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ เพื่อนำขึ้นพิจารณาชั้นศาล

โดยเจ้าหน้าที่สถานทูต และตัวแทนจากครอบครัว เดินทางมาติดตามผลการพิจารณาอย่างจดจ่อ

“แต่ลงเอย ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สามารถชี้ได้ว่า ผู้ตายเสียชีวิตด้วยการกระทำของใคร”

ด้วยปัญหาของพยานหลักฐาน ทำให้การตายของช่างภาพชาวญี่ปุ่นไม่สามารถสรุปได้

“นี่จึงเป็นอีกเหตุการณ์ที่ยังฝังใจในหมู่คนญี่ปุ่น”

กระนั้นก็ตาม โดยภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ยังเป็นไปอย่างปกติ

มาจนถึงความตายของ 4 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นล่าสุด ก็ยังไม่มีอะไรลุกลามถึงขั้นกระทบการท่องเที่ยว

เพียงแต่ต้องไม่ลืมว่า มีคนที่เกี่ยวข้อง มีครอบครัวญาติของคนตายในทุกๆ เหตุการณ์ที่ยังจดจำได้ดี ว่าคนของเขาเอาชีวิตมาทิ้งในบ้านเรา

สังเวยมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว และมาตรฐานการสลายการชุมนุมของประชาชน ที่มีการใช้กระสุนจริง!!