E-DUANG : “การตลาด” กับ “ความเป็นจริง”

ไม่ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนคุ้นชินกับ “การตลาด”

เหมือนกับ “การตลาด” กับ “การสร้างภาพ”จะคืออันเดียวกัน

เป็นความจริง เพราะว่ากระบวนการ”สร้างภาพ” ก็เพื่อจะบรรลุเป้าหมายในทาง “การตลาด”

คือ ขาย “สินค้า” ได้

ไม่ว่าสินค้าอันเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ไม่ว่าสินค้าในทางการเมือง

ล้วนสัมพันธ์กับ “ภาพลักษณ์”

เพราะ “ภาพลักษณ์” ซึ่งดำเนินไปในแบบสะสมนั้นเองนำไปสู่การจำหลักอย่างหนักแน่น

กระทั่งไปอยู่ในจุดอันเป็น “จุดขาย”

 

หากศึกษากระบวนการของ”การสร้างภาพ”ในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง

ก็ต้องยอมรับว่า “การสร้างภาพ” ก็ต้องมี “พื้นฐาน”

มิใช่จะสร้างขึ้นในแบบ “วิมานบนอากาศ” เลื่อนลอย ตรงกัน ข้าม ต้องเป็นการสร้างวิมานบน “ความจริง”

แม้ “ความจริง” จะดำรงอยู่ 2 แบบ

แบบ 1 คือ ความเป็นจริงในเชิง”เสกปั้น”สร้างขึ้น แบบ 1 คือ ความเป็นจริงอันเป็น “จริงแท้”

นักการตลาดอาจ “เสกปั้น” ขึ้นมาได้

แต่ถ้าหากเป็นการเสกปั้นอย่างไร้รากฐาน ไร้องค์ประกอบอันเป็น “ความจริง” ที่จริงแท้

ในที่สุดก็ต้องพังครืน

 

นอกเหนือจากการสร้างภาพทางการตลาดจะต้องวางรากฐานอยู่กับความเป็นจริงอัน”จริงแท้”แล้ว

ยังต้องคำนึงถึงอีก “เอกภาพ” 1 ซึ่งสำคัญ

นั่นก็คือ จะต้องดำรงเอกภาพระหว่าง “คำพูด” กับ “การปฏิบัติ” ให้จงได้

หาก 2 ส่วนนี้ไปคนละทิศ คนละทางก็ “เหลว”

สำนวนไทยที่ติดปากชาวบ้านเป็นอย่างมาก เขาสรุปและเรียกว่า คนพูดอย่าง ทำอย่าง ปากอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง ไม่พึงคบ

เมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำตามพูด คนจะเชื่อ