กรองกระแส/ก้าวคนละก้าว จาก ตูน บอดี้สแลม ประกายความคิด

กรองกระแส

ก้าวคนละก้าว
จาก ตูน บอดี้สแลม
ประกายความคิด

เมื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างออกมาปกป้องกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” ของ ตูน บอดี้สแลม การจะวิ่งจากเบตงไปยังแม่สายของตูน บอดี้สแลม ก็สะท้อนลักษณะในทางการเมืองขึ้นมาอย่างเด่นชัด
ถามว่าเหตุใดกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” จึงกลายเป็นประเด็นร้อน
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง ทั้งที่สนับสนุน เห็นด้วย ทั้งที่แม้จะชื่นชมต่อจิตใจอันดีงาม เสียสละ แต่ไม่เห็นด้วย
เป็นการไม่เห็นด้วยใน “วิธีการ” และ “ความคิด”
คำตอบ 1 มาจากปัญหาและความขัดแย้งในทางความคิดที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเริ่มปะทุขึ้นในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมาในลักษณะบานปลายกระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
คำตอบ 1 มาจากความละเอียดอ่อนและความสัมพันธ์ของเป้าหมาย “ก้าวคนละก้าว” เป็นการเรียกร้องเงินบริจาคจากประชาชนอาจจะเริ่มต้นเพียงคนละ 10 บาท แต่เพื่อไปสนับสนุนโรงพยาบาลศูนย์จำนวน 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ก้าวคนละก้าวจึงเป็นก้าวกระโดดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความคิด ในด้านการเมือง

ชมเชยจิตใจ
ตูน บอดี้สแลม

น่าสังเกตว่าความเห็นต่อกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” ของ ตูน บอดี้สแลม ดำเนินไปใน 2 ท่าทีอันสัมพันธ์และขัดแย้งกัน
1 ชมเชยจิตใจอันเสียสละ กล้าหาญ แข็งแกร่งและมั่นคง
จิตใจอันดีงามของตูน บอดี้สแลม สังคมประจักษ์ตั้งแต่เมื่อเขาวิ่งเพื่อบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลแห่งบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ มาแล้ว จึงได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่น และการแสดงออกของเขาก็กลายเป็นข่าวใหญ่
ความเสียสละอันกล้าแข็ง แกร่งและมั่นคงเช่นนี้ยังดำรงอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย
ขณะเดียวกัน 1 ตั้งข้อสงสัยต่อวิธีการของ ตูน บอดี้สแลม ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงหรือเสมอเป็นเพียงการจัดการกับปัญหาเฉพาะส่วน หากเปรียบเทียบในเชิงการแพทย์ก็เป็นเพียงการให้ยาแก้ปวดในเชิงบำบัด มิได้เป็นการขจัดโรค
จากตรงนี้เองที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ไปยังกระบวนการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลว่าให้น้ำหนักไปทางด้านใดมากกว่า
นั่นก็คือ การเปรียบเทียบงบประมาณการซื้อยุทโธปกรณ์กับงบประมาณทางด้านสาธารณสุข

ประยุทธ์ ประวิตร
กับ ตูน บอดี้สแลม

การออกมาปกป้องและแสดงความเห็นด้วยไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สามารถเข้าใจได้
1 เพราะว่ากิจกรรมของ ตูน บอดี้สแลม เท่ากับช่วยรัฐบาล
ขณะเดียวกัน 1 เพราะว่ากระบวนการของ ตูน บอดี้สแลม แม้ว่าจะเปี่ยมด้วยความปรารถนาดี แต่ผลสะเทือนก็คือ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงไปยังความคิดในการบริหารจัดการงบประมาณ และความคิดในเชิงแก้ไขปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์
คล้ายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะออกมาปกป้องที่มีการพาดพิงไปถึงการซื้อยุทโธปกรณ์ท่ามกลางปัญหาในทางเศรษฐกิจ
แต่แท้จริงแล้วก็คือ การปกป้องกระบวนทัศน์การแก้ปัญหาในเชิงสังคมสงเคราะห์มากกว่า
วิธีการในแบบตูน บอดี้สแลม มิได้เป็นการริเริ่มเป็นครั้งแรก ตรงกันข้าม ดำรงอยู่ภายในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุกระหน่ำ ก่อนหน้านี้สังคมก็เห็นกันอยู่แต่มิได้มีการมองอย่างเชิงสังเคราะห์จึงไม่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์
แต่ระยะหลังเมื่อสังคมอยู่ในห้วงแห่งความข้ดแย้ง แตกแยกในทางความคิด มุมมองต่อวิธีการในแบบของตูน บอดี้สแลม จึงได้รับการมองอย่างจริงจัง
ต้องขอบคุณ ตูน บอดี้สแลม ที่ทำให้ปัญหามีความแจ่มแจ้ง ชัดเจนขึ้น

ขัดแย้ง ความคิด
สังเคราะห์ วิเคราะห์

ปรากฏการณ์ ตูน บอดี้สแลม ซึ่งเริ่มในเดือนพฤศจิกายนและจบลงในเดือนธันวาคม เมื่อถึงแม่สาย โครงการก็จบ แต่ความขัดแย้งถกเถียงที่เกิดขึ้นไม่น่าจะจบลงไปด้วย
ตรงกันข้าม ตูน บอดี้สแลม เท่ากับเป็นการจุดประกาย “ความคิด”
นี่มิได้เป็นเรื่องในทางการเมืองพื้นๆ ที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดง ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ระหว่าง กปปส. กับคนเสื้อแดง
หากจับกระบวนการจะเห็นได้ว่า “นักวิชาการ” ต่างหากที่เป็นคนตั้ง “ข้อสังเกต”
เป็นการตั้งข้อสังเกตไปยังกระบวนการทางความคิดในกระสวน “สังคมสงเคราะห์” เป็นการตั้งข้อสังเกตไปยังกระบวนการบริหารจัดการในเรื่อง “งบประมาณ” แผ่นดินว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม
โครงการก้าวคนละก้าว จึงเป็นการเริ่มต้นในประเด็นความคิดอันแหลมคมยิ่ง