ในประเทศ /การเมืองยัง ‘วูบไหว’ ‘หญิงหน่อย’ สะดุดขึ้นเบอร์ 1 เพื่อไทย พรรคใหม่ ‘ขยับ’ กระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ยังดำรงอยู่

ในประเทศ

การเมืองยัง ‘วูบไหว’
‘หญิงหน่อย’ สะดุดขึ้นเบอร์ 1 เพื่อไทย
พรรคใหม่ ‘ขยับ’
กระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ยังดำรงอยู่

นับเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย
ที่จัดกิจกรรม “ดอกดาวเรืองแทนใจ น้อมถวายพ่อหลวงแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม
แล้วปรากฏภาพเธอและคณะอยู่บนขบวนรถ ที่ติดชื่อ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หรา
ภาพนี้ถูกนำไปโจมตีในโลกโซเชียลทันทีและถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว
โดยกล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์จัดงานและเชิญชวนประชาชนมาร่วมถวายดอกดาวเรือง แฝงการหาประโยชน์ทางการเมือง
ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แม้คุณหญิงสุดารัตน์จะรีบออกมาขอโทษทั้งน้ำตา
โดยยืนยันว่าการจัดพิธีถวายดอกดาวเรืองไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝงเลย
“ดิฉันลืมไปว่า รถคันที่มีปัญหามีสติ๊กเกอร์ชื่อดิฉันอยู่ด้านหน้า ซึ่งติดอยู่กว่า 10 ปีแล้ว และดิฉันก็ขึ้นรถคันนี้ไปเพียงระยะสั้นๆ ถึงแม้ดิฉันจะเคยเป็นนักการเมือง แต่ดิฉันก็คือคนไทยคนหนึ่ง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และอยากจะทำสิ่งที่ดีๆ ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านบ้าง ดิฉันรู้สึกเสียใจ และกราบขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจด้วยนะคะ”

แม้จะยืนยันว่าไม่มีเจตนาทางการเมืองใดๆ
แต่กระนั้น ในสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากด้วยการตำหนิ
โดยระบุว่า ในช่วงเตรียมงานพระราชพิธีสำคัญได้ฝากถึงประชาชนนานแล้ว ใครที่ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ที่ไม่เหมาะสม สังคมก็ช่วยกันกดดัน ช่วยกันคุ้มครองด้วย อย่าให้ต้องใช้กฎหมายมากนักเลย สื่อก็ทราบกันอยู่แล้ว ก็ขออย่าให้เกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยในประเทศขึ้นมาอีกในช่วงนี้ หรือในช่วงต่อไป
“นักการเมืองคงทราบดีกันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกหรือผิด สังคมรู้อยู่แล้วคงไม่ต้องถามผม” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แม้จะมีการระบุมาตลอดว่าสนิทสนมกับคุณหญิงสุดารัตน์ แต่ครั้งนี้ก็ได้ออกมาตำหนิค่อนข้างแรง
“เขาอธิบายแล้วพวกคุณเข้าใจไหม เขาบอกว่าเขาไม่ได้ไปทำแบบนั้น และบอกว่าผิดพลาด ผิดพลาดอย่างไร ตัวหนังสือตัวเบ้อเร่อ อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ไปเตือนเขาแล้ว ทั้งนี้ ผมไม่ได้ดูว่าร้องไห้หรือไม่ร้องไห้”

เป็นที่ทราบดี “คุณหญิงหน่อย” ถูกจับตาว่าตอนนี้เป็นเต็งหนึ่งที่จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่
ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถประสานกับกลุ่มขั้วขัดแย้งได้ โดยเฉพาะกับ คสช.
ซึ่งในช่วงที่พรรคเพื่อไทยไร้หัว โดยเฉพาะหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีออกนอกประเทศ
คุณหญิงสุดารัตน์ก็เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น มีกิจกรรมทางสังคม และมีกิจกรรมภายในกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย
เช่น เข้าไปร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกและอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย
จนมีการคาดหมายว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เป็นคนที่ถูกเลือกจากคนในตระกูชินวัตร ทั้งในไทยและในต่างแดนให้เธอเป็นแม่ทัพในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะคู่แข่ง รวมถึงอาจพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายครองอำนาจในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ บทบาทของเธอจึงได้รับความสนใจอย่างสูง
มีสปอตไลต์ฉายจับตลอดเวลา
และที่สุดก็เกิดความผิดพลาด จากกิจกรรม “ดอกดาวเรืองแทนใจ น้อมถวายพ่อหลวงแผ่นดิน” ผลสะเทือนก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรง
ตามความคาดหมายที่ว่า ใครเป็นดาวเด่น หรือใครที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นหมายเลขหนึ่งของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสถูกถล่ม
เพื่อที่จะให้เกิดความบอบช้ำ หรือมีตำหนิ จนไม่อาจะเป็นคู่แข่งสำคัญของฝ่ายที่กุมอำนาจตอนนี้
ดังนั้น ทุกย่างก้าวจึงต้องมากด้วยความระมัดระวัง
แต่คุณหญิงสุดารัตน์ ก็มาพลาดเสียแต่แรกๆ ซึ่งจะโทษใครไม่ได้นอกจากโทษตนเอง
เรื่องนี้คงเป็นหอกปักหลังไปอีกนาน และคู่แข่งคงหาจังหวะขยายแผลอยู่ตลอดเวลา

ภาวการณ์นี้ไม่ดีสำหรับคุณหญิงสุดารัตน์เอาเสียเลย เพราะหากถูกขยายแผลไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงพรรคคู่แข่งเท่านั้นที่จะร่วมซ้ำ
ในพรรคเพื่อไทยเองก็อาจมีการทบทวนหาผู้นำใหม่ ที่สดและไม่มีแผลมานำใหม่
เพราะว่าไป ภายในเพื่อไทยก็ไม่ได้สุกงอมกับการที่จะให้คุณหญิงสุดารัตน์ขึ้นมาเป็นผู้นำ
คุณหญิงสุดารัตน์อาจมีเสียงสนับสนุนในกลุ่ม ส.ส.กทม.
แต่ในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ก็ไม่น่าจะสรุปได้ว่าเธอเป็นหนึ่ง
โดย ส.ส.อีสาน ที่ผูกพันกับคนเสื้อแดง ดูจะไม่ค่อยแฮปปี้กับภาพลักษณ์ของคุณหญิงสุดารัตน์ ที่โน้มเอียงพร้อมจะประสานกับ คสช. อันถือเป็นจุดด้อย และขัดกับการต่อสู้ของมวลชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก
เช่นเดียวกับ ส.ส. ในภาคเหนือก็ยังมีกลุ่มของ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ดูจะไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แถมยังเป็นคู่แข่งขันกันภายในพรรคเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น การที่คุณหญิงสุดารัตน์มี “แผล” เสียตั้งแต่ต้น
ก็น่าสนว่าอนาคตจากนี้ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” จะเป็นอย่างไร
จะรับมือกับศึกทั้งนอกและในได้หรือไม่

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า “ศึกข้างหน้า” หนักหนาสากรรจน์นัก เพราะไม่เพียงจะแข่งขันกับคู่แค้นตลอดกาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์
ยังต้องแข่งขันกับ คสช. ที่กำลังถูกจับตามองว่า จะ “แตกตัว” ออกเป็นกลุ่มการเมือง เพื่อรักษา “อำนาจ” ของตนตามยุทธศาสตร์ “อยู่นานๆ” อย่างไร
ที่ถูกจับตามากขณะนี้ก็คือ การปรากฏขึ้นมาของพรรคนอมินี ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่จะมาร่วมสกรัมพรรคเพื่อไทยอีกกี่พรรค
ที่ชัดเจนและประกาศตนมาก่อนใครก็คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยยืนยันที่จะเดินหน้าจัดตั้งพรรคการเมืองในนาม “พรรคประชาชนปฏิรูป”
เพื่อขจัดปัญหาการเมืองที่ล้มเหลว ซึ่งเกิดจากพรรคการเมืองที่มีลักษณะเผด็จการผูกขาดเป็นพรรคของนายทุน
ซึ่งก็คงไม่ใช่พรรคการเมืองไหน นอกจากพรรคเพื่อไทย
และยังแจ่มชัดว่าจะสนับสนุนนายกฯ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถ และไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.
โดยยกตัวอย่าง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมองว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม
เป็นที่คาดหมายว่าหลัง คสช. ประกาศปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
คงจะมีพรรคการเมืองในแนวทางเดียวกับ “พรรคประชาชนปฏิรูป” เกิดขึ้นอีกหลายพรรค
และจะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านขัดขวางพรรคเพื่อไทยไม่ให้ขับเคลื่อนทางการเมืองได้มากนัก

ขณะเดียวกัน น่าสังเกตว่า คสช. ไม่ได้เล่นไพ่ใบเดียว คือ บ่ายหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น
ยังมีการเลี้ยงกระแส “การเลื่อนเลือกตั้ง” เอาไว้ โดยชงเรื่องให้ไปอยู่ในมือและการขับเคลื่อนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อย่างคำสัมภาษณ์ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ที่ระบุว่า ขณะนี้เหลือกฎหมายลูกหลักๆ อยู่ 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนตัวไม่ห่วงร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. แต่เป็นห่วงเรื่องร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าจะถูกนักการเมืองจับตามองและรุมท้วงติงอย่างหนัก ถ้า ส.ส. รับกันไม่ได้ เกรงว่าจะยุ่ง
“สนช. จะไม่คว่ำร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับนี้เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปแน่นอน แต่ห่วงตัวแปรเรื่องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. หากมีการยื่นตีความจริง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องไปแก้ไขเนื้อหาที่เป็นปัญหา อาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ทันโรดแม็ปเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่นายกรัฐมนตรีระบุ อาจเลือกตั้งได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ดูจะขานรับ โดยบอกว่า ถ้ามีใครยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ต้องช้าเป็นธรรมดา ต้องยืดไปตามห้วงระยะเวลา ซึ่งเราไม่ได้ไปทำให้มันยืด
ดังนั้น ที่เชื่อว่าการเมืองกำลังเข้าสู่โหมด “การเลือกตั้ง” อย่างเต็มที่นั้น
การเลี้ยงกระแสเลื่อนหรือยืดเลือกตั้ง ก็ยังคงดำรงอยู่
การเมืองจึงถือว่าไม่นิ่ง มีสิทธิพลิกผัน วูบไหว ตลอดเวลา