คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ข้าวในประเพณีพราหมณ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

บรรดาธัญญาหารทั้งหมด พราหมณ์ถือว่าข้าวศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสุด เช่นเดียวกับอุษาคเนย์ เพราะคนอินเดียก็กินข้าวเป็นอาหารหลักอย่างเรา

แต่คนอินเดียกินทั้งข้าวเจ้าและข้าวสาลี โดยเฉพาะคนอินเดียในภาคเหนือ เนื่องจากภูมิอากาศต่างจากภาคใต้ ปลูกข้าวสาลีได้ดี จึงมีอาหารแปรรูปจากข้าวสาลีสารพัด เช่น โรตีชนิดต่างๆ กระนั้นคนทั่วๆ ไปก็กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก

ข้าวพันธุ์ที่อินเดียนิยมกินมักมียางน้อยและร่วนซุย จึงต้องกินคลุกน้ำแกง ซึมซับแกงได้ดี ผิดกับข้าวในบ้านเราที่คลุกกับข้าวแห้งอร่อยกว่า และผมเองยังไม่เคยเห็นคนอินเดียกินข้าวเหนียวหรือปลูกข้าวเหนียวเลย ใครเคยได้ยินวานบอก

บางท่านเคยเสนองานวิจัยทำนองว่า พุทธศาสนาเกิดในเมืองไทยนี่แหละไม่ใช่อินเดีย (ซึ่งอ่อนด้อยในเชิงหลักฐานและหลักการมากๆ) ก็อ้างคำในพระวินัยทำนองว่า ให้พระฉันข้าวเป็นคำให้พอดีแกง

ท่านก็ไปตีความว่า ถ้าข้าวมันเป็นคำคำได้ก็ต้องแม่นข้าวเหนียวล่ะเนาะ จั่งซี่พระในพุทธกาลฉันข้าวเหนียวแน่ๆ แสดงว่าต้องอยู่ที่อีสานบ้านเราแหละ บ่แม่นอินเดียดอก

โอย ผมอ่านละไม่รู้จะขำหรือร้องไห้ดี ทำยังกะข้าวแบบอื่นมันคลุกแกงปั้นคำไม่ได้

 

ข้าวเป็นอาหารโบราณและอาหารหลักของอินเดียเช่นนี้ อินเดียจึงมี “วัฒนธรรมข้าว” แบบเดียวกับอุษาคเนย์ คนอินเดียให้ความสำคัญกับข้าวมาก

ผมไม่เคยได้ยินว่า มีเทพเจ้าของข้าวโดยเฉพาะอย่าง “เจ้าแม่โพสพ” ในบ้านเรา เพราะในอินเดีย ข้าวและธัญพืชอื่นๆ เค้ายกให้เป็น “เคารี” (เจ้าแม่ขาวหรือทอง) หรือ “อันนปูรณา” (เจ้าแม่ข้าวอาหารบริบูรณ์) หรือ “ธัญญลักษมี” (พระลักษมีแห่งธัญพืช) โดยรวมคือเป็นเจ้าแม่นั่นแหละ แต่มิได้หมายถึงข้าวอย่างเดียว

อาจเพราะคนอินเดียกินธัญพืชอื่นๆ ด้วย ธัญพืชอื่นๆ จึงมีความสำคัญด้วย

ผมเข้าใจว่า เจ้าแม่โพสพของบ้านเรา ไม่ได้มาจากอินเดีย ไม่ได้มาจากเคารีหรือพระอันนปูรณา แต่เป็น “ผี” เจ้าแม่ของเราเองในศาสนาพื้นเมือง เช่นเดียวกับแม่ซื้อหรือผีผู้หญิงอื่นๆ

บางท่านพยายามโยงนาม “โพสพ” กับ ไพศรพ (เลือนจากคำแขก ไวศรวัณ หรือ เวสสุวรรณ) ซึ่งเป็นนามของท้าวกุเวร แต่ผมว่าอาจแค่ยืมนามหรืออาจไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ เพราะกุเวรนั้นเป็นเทพบุรุษและมิได้เกี่ยวกับข้าว

คงเหมือนอย่างพระภูมิที่ใช้นามแขกแบบไทยๆ อย่าง ชัยมงคล หรืออะไรทำนองนั้นแหละครับ

 

ในเมื่อข้าวและธัญพืชเป็นเทพ วัฒนธรรมอินเดียจึงเหมือนไทยอย่างเก่า คือ เคารพนบไหว้ข้าวก่อนกิน จะเหยียบย่ำก็ไม่ได้ การปลูกการเก็บก็มีพิธีกรรม ผิดแต่เขาไม่ได้นับถือ “ขวัญ” อย่างเรา

นอกจากกินแล้ว ข้าวยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมของพราหมณ์ เมื่อพราหมณ์จะทำพิธีบูชาต้องมีข้าวเป็นส่วนหนึ่งเสมอ

พราหมณ์จะเอาข้าวสารไปคลุกกับผง “กุงกุม” ซึ่งมีสีแดงจนทั่ว ไม่ก็อาจใช้ผงไม้จันทน์หอมหรือขมิ้นก็ได้ในบางกรณี เรียกว่า “อักษัต” ซึ่งหมายถึงข้าวสารนั่นแหละ แต่คำนี้มีความหมายโดยพยัญชนะอีกว่า “ไม่แตกหัก” เพราะข้าวต่างกับธัญพืชอื่น ตรงที่มันไม่เป็นซีก ไม่สามารถแบ่งซีกได้อย่างถั่วชนิดต่างๆ

ความไม่แตกหักเป็นสัญลักษณ์ของการสืบต่อ ความมั่นคง และการมีชีวิต ข้าวสารอันไม่แตกหักคือสัญลักษณ์ของสิริมงคลนั่นเอง

สีแดงที่ย้อมข้าว หากถามพราหมณ์ท่านก็ว่าเป็นสีสิริมงคล แต่ไม่ต้องเดาก็ทราบว่ามันหมายถึงโลหิตด้วยนั่นเอง

อักษัตใช้ในการอัญเชิญ หรือสถาปนาเทพ ส่งเสด็จเทพ หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ของเทพเลยก็ได้ คือเอาข้าวนั้นลงกองไว้สมมุติแทนเทพองค์ต่างๆ โดยไม่ต้องใช้เทวรูป

ทั้งยังใช้เป็นเครื่องประดับบนหน้าผากยามเมื่อเจิมเทวรูปเทพด้วยแป้งจันทน์ ครูของผมท่านว่า คนสมัยก่อนเมื่อเจิมหน้าผากด้วยของหอมแล้วก็เอาไข่มุกติดหน้าผาก แต่ปัจจุบันไข่มุกเป็นของแพงหายากมีราคา จึงใช้เมล็ดข้าวติดแทนไข่มุก

เป็นที่มาว่าทำไมเขาจึงต้องเอาข้าวสารไปติดหน้าผากทั้งเทวรูปและคนเราในพิธีกรรม

 

นอกจากนี้ พราหมณ์ยังเอาข้าวไปย้อมสีหลากสี แล้วจัดเป็นรูปทรงเลขาคณิตบนโต๊ะ เรียกว่ามณฑลหรือปีฐะ สมมุติเป็นจักรวาลหรือที่ประทับของเทพเจ้า แล้วกระทำบูชาบนมณฑลอันนั้น

นอกจากนี้ เวลาอะไรขาดไปในพิธีบูชาเขาก็เอาข้าวอักษัตใช้แทนได้โดยสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้น

ในการบูชาพื้นฐานที่สุดหรือการบูชาขั้นตอนเดียว เครื่องบูชาจะประกอบด้วยดอกไม้ข้าวสารและแป้งไม้จันทน์ พราหมณ์จะเรียกรวมๆ ว่า “คัณธากษตปุษปัม” (คำสนธิรวมกันของสามสิ่ง คือ คัณธะ เครื่องหอม, อักษัต ข้าวสาร, ปุษปะ ดอกไม้)

พราหมณ์สยามมีการ “หุงข้าวเวทย์” ถวายพระเป็นเจ้าในพิธีศิวาราตรี คือตั้งหม้อหุงข้าวด้วยนมเนยในเทวสถาน

ผมคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับข้าว “ปงกัล” ในพิธีพราหมณ์ทมิฬ ซึ่งหุงถวายพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกัน และหุงเป็นพิเศษในเทศกาลบูชาพระสุริยเทพช่วงมกรสังกรานติ ซึ่งมักตรงกับพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวายของเราพอดี

 

นอกจากการใช้ในพิธีกรรมแล้ว พราหมณ์เขายังมีข้อห้ามเกี่ยวกับข้าวในสองลักษณะ

อย่างแรกคือ ไม่ให้ใช้ข้าวอักษัตหรือข้าวสารบูชาพระวิษณุครับ อันนี้เขียนไว้ในหนังสืออาจารเยนทุและสนาตนปูชาวิธี เทพเจ้าอื่นทุกพระองค์บูชาได้หมด

ผมยังไม่เห็นคำอธิบายที่ชัดเจนของเรื่องนี้ แต่สังเกตว่า พระวิษณุนั้นมักมีข้อห้ามในการบูชาที่เกี่ยวพันกับสัญลักษณ์ “เจ้าแม่” เช่น พระวิษณุนุ่งแต่เหลืองหรือขาว ไม่นุ่งแดงเลย ไม่โปรดสีแดง ไม่ใช้ข้าวซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแม่หรือตัวเจ้าแม่เองบูชา

อาจเพราะพระวิษณุถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของ “โลกุตระ” แต่เจ้าแม่คือ “โลกิยะ” จึงไม่ให้ใช้ “ระบบการบูชา” อย่างเดียวกัน และพระวิษณุนั้น โปรดปราน “ความบริสุทธิ์สะอาด” อย่างยิ่ง จะบูชาด้วยเลือดเนื้อหรือสัญลักษณ์พวกนั้นก็ไม่ได้

ที่จริง “ศาสนาของพระวิษณุ” ดูจะมีมโนทัศน์พื้นฐานต่างจาก “ศาสนาเจ้าแม่” พอสมควร ฮินดูที่อยู่ในฝักฝ่ายพระวิษณุ จึงมักถือว่าเกี่ยวพันกับ “อารยธรรม”ของอารยันมากกว่า หรือมักอ้างว่าเป็นฝ่ายปฏิรูปฮินดูแท้ เช่น นิกายเคาฑิยะ หรือสวามีนารายัณ เป็นต้น ซึ่งไว้คงได้อภิปรายกันต่อไป

หากไม่ขี้เกียจหรือลืมซะก่อน (ฮา)

นอกจากนี้ ในเทศกาลนวราตรี ซึ่งชาวฮินดูเขาถือพรตกินบวชนั้น ใครเคร่งมากหน่อยก็อดอาหาร ระดับทั่วๆ ไป เขาก็กิน “อาหารบวช” (อยากเรียกว่า กระยาบวช) คือไม่กินเนื้อของสดคาว และที่สำคัญ ไม่กินข้าวและถั่วมีตาด้วย

ถั่วมีตาท่านว่ามันมีชีวิตและงอกงามได้ จึงเว้นเสีย คือไม่ไปพรากพืชพันธุ์ ส่วนข้าวแม้จะไม่มีตา แต่เป็นอาหารสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่จึงงดเสียโดยเด็ดขาดในช่วงถือพรตนั้น ก็กินแต่ “ผลาหาร” คือผักผลไม้ ออกพรตแล้วจึงกินได้ตามปกติ

 

ที่เขียนเรื่องข้าว เพราะช่วงนี้เรื่องรับจำนำข้าวในบ้านเรากำลังร้อนรุ่มเหลือเกิน จะเขียนเรื่องรับจำนำข้าวก็ไม่รู้มากพอ ส่วนที่พอรู้บ้างก็คร้านจะเขียน เพราะเห็นมิตรสหายที่เคยเบื่อการเมืองกลับมาคึกคักกันใหญ่

อะไรเป็นอย่างไร ขอท่านตามเอาเองเถิด ผมไม่อยากพูดเพราะเหน็ดหน่ายเสียแล้ว นี่ว่าจะขอเบื่อการเมืองกับเขาบ้าง

สรุปง่ายๆ คือ ข้าวในบ้านเราจึงไม่ได้เป็นแค่อาหารและสัมพันธ์กับเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อเท่านั้น

เป็นเรื่องการเมืองด้วย (อีกล้าวว)