นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ธรรมกายจากอีกมุมมองหนึ่ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าผมพูดว่า ความเคลื่อนไหวทางศาสนาของธรรมกายคือการปฏิรูปศาสนาครั้งที่สองในเมืองไทย ใครที่อาสาไปปฏิรูปศาสนาให้คณะรัฐประหารคงเลิกคิ้ว ไม่ใช่เลิกคิ้วให้ธรรมกายนะครับ แต่เลิกคิ้วให้ผมว่าอีตานี่คงเสียสติไปแล้ว

แต่หากผมพูดใหม่ว่า ธรรมกายคือความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่ต่อต้านกระแสปฏิรูปศาสนา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เจ้าฟ้ามงกุฎ (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) สืบมาจนถึงท่านพุทธทาสภิกขุ, พระอาจารย์มั่นและพระป่า, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ฯลฯ คนที่เคยเลิกคิ้วใส่ ก็อาจพยักหน้าน้อยๆ คอยฟังต่อ

แต่สองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันนะครับ

การปฏิรูปศาสนาเพื่อเผชิญกับความเป็นสมัยใหม่ในเมืองไทยนั้น ล้วนเป็นการกระทำและสนับสนุนของ “ปัญญาชน” ทั้งนั้น คนที่จัดตัวเองหรือคนอื่นเขาจัดให้เป็น “ปัญญาชน” นั้น มีจำนวนน้อยเพียงหยิบมือในทุกสังคม จึงมีสถานะพิเศษมากบ้างน้อยบ้าง และด้วยเหตุดังนั้นจึงน่าหมั่นไส้ในทุกสังคม

ในอดีต ปัญญาชนไทยสังกัดอยู่ในราชสำนักหรือองค์กรศาสนา อันเป็นที่นับถือของคนไทยทั้งสองอย่าง ด้วยเหตุดังนั้น ปัญญาชนจึงได้รับความนับถือพอสมควรในสังคมไทยไปด้วย ผิดจากในสหรัฐ ปัญญาชนล้วนสังกัดอยู่กับองค์กรหรือสถาบันใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาลัย, หนังสือพิมพ์, นักเขียน, กวีจนๆ ฯลฯ ปัญญาชนจึงได้รับความนับถือจากสังคมอเมริกันน้อยกว่าไทยมาก มักถูกเรียกว่าไอ้พวกหัวเถิก, ความคิดหัวเถิก, ศาสนาหัวเถิก, โรงเรียนหัวเถิก ฯลฯ ออกไปทางเหยียดๆ ว่าเพ้อฝัน และเข้ากับชีวิตจริงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยปัจจุบัน สถาบันที่เคยบ่มเพาะและผลิตปัญญาชนทั้งสอง ไม่ได้บ่มเพาะและผลิตปัญญาชนอีกแล้ว ซ้ำร้ายปัญญาชนรุ่นใหม่ซึ่งงอกออกมาจากมหาวิทยาลัย (ในหรือต่างประเทศก็ตาม) กลับเสนอความเห็นที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันทั้งสอง หรือนิยามความศักดิ์สิทธิ์ใหม่ไปในทางที่คนจำนวนมากในสังคมอาจรับไม่ได้ (เช่น ไม่ให้ความใส่ใจกับเป้าหมายทางโลกุตระของศาสนาเลย)

อย่าลืมที่กล่าวข้างต้นนะครับว่า คนส่วนใหญ่ในทุกสังคมไม่ใช่ปัญญาชน ในสังคม-เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน พวกเขาในฐานะกลุ่มก้อนทางสังคม ยังมีอำนาจยิ่งกว่าปัญญาชนเสียอีก เหตุใดเขาจึงต้องมีศรัทธาทางศาสนา และปฏิบัติศาสนา อย่างที่ปัญญาชนเห็นดีเห็นงาม

ศาสนามีความจำเป็นในชีวิตของเขา เหล่าคนหัวไม่เถิก เหมือนกับที่มีความจำเป็นในชีวิตของคนหัวเถิก (คำว่า non-intellectual น่าจะแปลว่า “ไม่ใช่ปัญญาชน” ก็ได้ และ “ไม่ปัญญาชน” ก็ได้ ความหมายหลังนี่แหละที่เป็นประเด็นสำคัญในที่นี้ คือพวกเขาต้องการศาสนาที่ “ไม่ปัญญาชน”)

จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าธรรมกายเสนอพระพุทธศาสนาแบบที่ “ไม่ปัญญาชน” นี้แก่ประชาชนคนชั้นกลางทั่วไป โดยพลิกกลับหลักการใหญ่ๆ ของพุทธศาสนาแบบปัญญาชนให้เป็นตรงกันข้ามหมด

ผมขอพูดถึงหลักการใหญ่ๆ ที่ธรรมกายพลิกกลับเพียงสามอย่างคือ 1.ทำให้มิติ “ศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนา กลายมาเป็นมิติ “โลกียะ” แทน (ระหว่าง sacred & profane ตามความคิดของ Emile Durkheim) 2.de-secularization คือทำให้การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันกลายเป็นการปฏิบัติศาสนา แต่ไม่เหมือน “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ของท่านพุทธทาสทีเดียว จะอธิบายความต่างข้างหน้า และ 3.สร้างบทบาทใหม่ของนักบวชและลัทธิคำสอน

มิติโลกียะนั้นเห็นได้ชัดในธรรมกาย และเป็นสิ่งที่เรียกศรัทธาผู้คนได้มาก หลายคนพูดว่าวัดพระธรรมกายสะอาดสะอ้านทำให้อยากเข้า อันที่จริงความสะอาดเป็นวัฒนธรรมนะครับ วัดโบราณก็สะอาดเหมือนกัน แต่สะอาดตามวัฒนธรรมสมัยนั้น วัดอื่นในทุกวันนี้ที่ไม่สะอาดทั้งในวัฒนธรรมเก่าและใหม่ก็มี แต่วัดที่ยังสะอาดตามวัฒนธรรมโบราณก็มีอยู่อีกมาก เพียงแต่คนปัจจุบันเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความสะอาดไปแล้ว จึงมองเห็นแต่ความรุงรัง ความสะอาดของวัดพระธรรมกายนั้น เป็นความสะอาดของวัฒนธรรมปัจจุบัน ทำให้เกิดความประทับใจทันทีที่ได้เห็น

ไม่เฉพาะแต่เรื่องของความสะอาด สิ่งก่อสร้างและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในวัดพระธรรมกาย ล้วนสะท้อนโมกษธรรมที่เป็นโลกียะ ผมไม่ทราบความคิดของสถาปนิกที่ออกแบบอาคารจานบิน แต่ขอโทษเถิดครับ จานบินนั้นใกล้กับพระนิพพานมากทีเดียว มันมาจากนอกโลก มีคนเคยเห็นน้อยมาก แต่ก็แจ่มชัดในความคิดของผู้คน ข้างในมีมนุษย์ต่างดาวที่ได้บรรลุอารยธรรมที่สูงกว่ามนุษย์หลายร้อยหลายพันเท่า ไม่เคยมีใครเห็น ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ แต่มีจริงแน่

เครื่องมือสื่อสารทันสมัย บันดาลให้ทุกอย่างมาอยู่ในฝ่ามือหรือปลายนิ้ว แถมด้วยแสงเสียงวูบวาบที่เทียบได้กับฉัพพรรณรังสี ความสว่างสุกใสของเป้าหมายทางศาสนาเคยแสดงออกด้วยแสงสลัว ดังพระพุทธรูปในวิหารโบราณนั่งสงบนิ่งอยู่ในเงาสลัว ตั้งอยู่ในที่ทั้งใกล้และไกลจากผู้กราบไหว้ไปพร้อมกัน แต่ความสว่างสุกใสของเป้าหมายทางศาสนาของวัดพระธรรมกาย ถูกแทนที่ด้วยแสงสว่างสุกใสที่ยิ่งกว่าของวิทยาศาสตร์ สาดส่องต้ององค์พระธรรมกายให้เด่นสง่าเบื้องหน้า ไม่ไกลจากผู้กราบไหว้ที่ชุมนุมกันในที่นั้น

ทุกอย่างที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ถูกเสนอในมิติของโลกียะ ซ้ำเป็นสุดยอดของโลกียะเลย คือวิทยาศาสตร์ที่ความรู้ย่อมตั้งอยู่บนประสบการณ์ของมนุษย์ ถึงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ในแง่ญาณวิทยา แต่เป็นวิทยาศาสตร์เชิงสัญลักษณ์ซึ่ง “จริง” แก่คนทั่วไปเสียยิ่งกว่าญาณวิทยา

พระพุทธศาสนาของปัญญาชนไทยคือความพากเพียรที่จะรู้เท่าทันอนิจลักษณะ, ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะของรูปและนาม แต่ธรรมกายก้าวพ้นความพากเพียรนั้น ไปสู่อานิสงส์ขั้นสุดท้าย คือได้บรรลุประสบการณ์ของความหลุดพ้นที่แจ่มชัด จนแทบจะจับต้องได้อันเกิดขึ้น “จริง” รอบตัว

อีกทั้งหนทางไปสู่ประสบการณ์ดังกล่าวก็เป็นมรรควิถีที่ใครๆ ก็ทำได้ เช่น ทำบุญให้ทาน, โกนหัวนุ่งขาว, ตักบาตรพระพุทธเจ้า, นั่งสมาธิให้เห็นธรรมกาย, ฟังเทศน์หลวงพ่อ ฯลฯ

ปัญญาชนชาวพุทธไทย โดยเฉพาะในรุ่นหลังๆ ทำให้ศาสนาเป็นฆราวาสวิสัยมากขึ้น คีหิปฏิบัติคือการรวบรวมหลักธรรมคำสอนที่พึงใช้ในชีวิตประจำวันของฆราวาส ถึงขั้นจิตว่างของท่านพุทธทาส เป็นทหารไปฆ่าข้าศึกก็ได้ หากทำด้วยจิตที่ไม่ได้อาฆาตมาดร้ายเขา หรือไม่ได้หวังจะเพิ่มดาวบนบ่า แต่ทำด้วยสำนึกต่อหน้าที่ การปฏิบัติธรรมจึงอยู่ในฆราวาสวิสัยโดยสมบูรณ์ (จนไม่รู้จะบวชไปทำไม)

ธรรมกายทำสิ่งตรงกันข้าม คือทำให้กิจวัตรปรกติในชีวิตฆราวาสมีมิติทางศาสนา นุ่งขาวห่มขาวก็อย่างหนึ่ง มันไม่ใช่นุ่งเจียมห่มเจียมนะครับ เพราะจะนุ่งเจียมด้วยสีใดๆ ก็น่าจะได้เหมือนกัน แต่นุ่งขาวเป็นการสวมเครื่องแบบ เหมือนกึ่งๆ นักบวช การแต่งกายจึงกลายเป็นเหมือนสบงจีวรของนักบวชไป

การฝึกสมาธิก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง การฝึกสมาธิเป็นเทคนีควิธีที่แพร่หลายมากในสมัยปัจจุบัน ทั้งในศาสนาและไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย เชื่อกันว่าเพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน นับวันการฝึกสมาธิ (ในเมืองไทยและในโลก) ก็มีเป้าหมายทางฆราวาสวิสัยมากขึ้น แต่การฝึกสมาธิของธรรมกายมีเป้าหมายทางศาสนาเท่านั้น คือฝึกเพื่อให้ได้ธรรมกายหรือเข้าถึงธรรมกาย จนดูประหนึ่งว่าการเข้าถึงธรรมกายต่างหากที่ทำให้ได้สมรรถภาพในการงาน นี่ก็เป็นการทำให้สิ่งที่กำลังกลายเป็นฆราวาสวิสัยกลับมาเป็นธรรมวิสัยอีกอย่างหนึ่ง

เหมือนกิจกรรมฆราวาสอีกร้อยแปด ซึ่งทำที่บ้านก็ดี แต่จะดีกว่าถ้าเข้ามาทำในวัด นับตั้งแต่ถูเรือน, ทำอาหาร, กวาดลานวัด, ปรนนิบัติพระสงฆ์ด้วยประการต่างๆ, การสร้างชุมชนศิษย์ธรรมกาย ที่สังเคราะห์เกื้อกูลกัน อันเป็นกิจกรรมปรกติที่ทำกันในชุมชนฆราวาสทั่วไป กลายเป็นการปฏิบัติศาสนาในหมู่ชุมชนธรรมกาย จองคอนโดฯ, อยู่คอนโดฯ, ล้วนได้บุญทั้งสิ้น ฯลฯ

ทำธุรกิจหากำไรแยะๆ ก็ได้ แต่ทำธุรกิจกับการบริจากเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เมื่อเศรษฐีบริจาคเงินแก่วัดพระธรรมกาย เขาก็สบายใจ กลับไปฟันกำไรนอกวัดได้อีกอย่างปลอดโปร่ง เพราะแม้แต่การประกอบธุรกิจของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติศาสนา

ในทัศนะของผม จุดอ่อนที่สุดของธรรมกายคือด้านหลักธรรมคำสอน ผมเคยนั่งฟังหลวงพ่อท่านเทศน์ทางทีวีช่องของวัด ฟังอยู่ตั้งนานก็ไม่ได้ยินว่าท่านสอนในเรื่องหลักธรรมว่าอย่างไรสักทีนะจ๊ะ ผมกลับไปหาดูว่าธรรมกายมีหลักธรรมคำสอนอะไรจากเอกสารต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ ก็พบว่ามีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องธรรมกายตรงเหนือสะดือ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นกลวิธีมากกว่าหลักคำสอน (doctrine) ใดๆ ที่จริงแล้วทฤษฎีธรรมกายของมหายานถูกพัฒนาไปเป็น doctrine หรือลัทธิคำสอนที่สลับซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่ปรากฏในคำสอนของวัดพระธรรมกาย

ผมจึงอยากสรุปว่า ที่หลักธรรมคำสอนหายไปนั้น ไม่ใช่เพราะเขาลืมหรือเขาไม่รู้ แต่เขาเจตนาที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับมันต่างหาก ธรรมกายเป็นศาสนาด้านปฏิบัติ โดยไม่มีทฤษฎี ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนาของปัญญาชนไทย ซึ่งมีทฤษฎีมาก, ลึก, กว้างใหญ่ไพศาล และแหลมคม แต่ไม่ค่อยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนนัก ตั้งจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วอะไรๆ มันก็ดีเอง

ก็เหมือนเราขับรถ, ใช้เครื่องซักผ้า, ใช้เตาไมโครเวฟ, ใช้ตู้เย็น โดยไม่เห็นต้องรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งเหล่านั้นเลย

ด้วยเหตุดังนั้น บทบาทใหม่ของพระสงฆ์ธรรมกาย จึงไม่เหมือนบทบาทของพระสงฆ์ตามความคาดหวังของปัญญาชนไทย ท่านไม่ไปธรรมจาริกเพื่อรักษาแม่น้ำมูล หรือช่วยชาวโรฮิงญาหรอกครับ ท่านเดินบิณฑบาตให้เหลืองอร่ามไปทั้งกรุง บนพรมที่ปูลาดไปด้วยดอกไม้ที่ชาวบ้านและญาติธรรมมาโปรยไว้ ก่อให้เกิดความปีติโสมนัสแก่ผู้พบเห็น เป็นการปฏิบัติศาสนา แค่ยกมือขึ้นไหว้โมทนาสาธุก็ได้บุญแล้ว

ด้วยเหตุดังนั้น ธรรมกายจึงเป็นการปฏิรูปศาสนาครั้งที่สอง (แต่ปฏิรูปแล้วดีขึ้นหรือไม่ ผมไม่ทราบ) ทำให้พุทธศาสนามีความหมายในเชิงปฏิบัติแก่ชาวบ้านทั่วไป พุทธศาสนาไทยในสมัยโบราณก็อาจมีความหมายในทางปฏิบัติแก่ชาวบ้านอยู่แล้ว แต่เมื่อชาวบ้านเปลี่ยนไปจากคนชนบท กลายเป็นคนเมืองมากขึ้น พุทธศาสนาก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้มีความหมายในเชิงปฏิบัติแก่ชาวบ้านที่กลายเป็นคนเมืองแล้วต่อไป การปฏิรูปศาสนาครั้งแรกเป็นเรื่องของปัญญาชนที่จะปรับให้พุทธศาสนามีความหมายแก่ปัญญาชน (หรืออย่างน้อยก็ผู้มีการศึกษาระดับสูง) ของโลกสมัยใหม่ แต่ชาวบ้านถูกทิ้งไว้กับคิหิปฏิบัติ ซึ่งไม่มีพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางสังคมเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์แวดล้อมทางศาสนาที่ขาดไม่ได้

ธรรมกายให้คำตอบใหม่แก่ชาวบ้านที่ถูกทอดทิ้งเหล่านั้น กลายเป็นการปฏิรูปศาสนาที่น่ารังเกียจแก่ปัญญาชน เพราะทุกอย่างของธรรมกายช่างเป็นตรงข้ามกับพุทธศาสนาของปัญญาชนเสียจนรับไม่ไหว

ธรรมกายถูกคณะทหารที่ยึดอำนาจบ้านเมืองล้อมปราบไปแล้ว ด้วยความเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียงของเหล่าปัญญาชน ผมไม่ทราบว่าธรรมกายจะฟื้นขึ้นมาได้ในอนาคตหรือไม่ แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า พุทธศาสนาในเชิงปฏิบัติสำหรับชาวบ้านที่ไม่สนใจหลักธรรมคำสอนเป็นพิเศษจะกลับมาเฟื่องฟูอีก ในนามของอะไรก็แล้วแต่ และอย่างที่ปัญญาชนพอรับได้หรือไม่ก็แล้วแต่

(ถ้าจะมีอะไรที่น่าสนใจในบทความนี้บ้าง ก็เป็นเพราะข้อมูลและความคิดอันลึกซึ้งของท่านอาจารย์อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ในงานวิจัยเรื่องศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่, ศึกษากรณีวัดธรรมกาย แต่ส่วนที่อาจคิดว่าเสียสติ เป็นของผมเองครับ)