เชิงบันไดทำเนียบ : คืนฟอร์ม ‘บิ๊กป้อม’ ฟอร์มทีมถก ‘ปรองดอง’ ภาวะ “ลูกไก่ในกำมือ”

โดย ปรัชญา นงนุช

เชิงบันไดทำเนียบ : คืนฟอร์ม ‘บิ๊กป้อม’ ฟอร์มทีมถก ‘ปรองดอง’ ภาวะ “ลูกไก่ในกำมือ” เผยสูตรทำ “รัฐประหาร” สำเร็จรูป

เป็นงานยากรับปี60 ของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูงานปรองดอง เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เบื้องต้นแบ่งเป็น อนุกรรมการอำนวยการปรองดองฯ จัดทำ “จัดทำหัวข้อคุย” โดยมี ‘บิ๊กช้าง’พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ประธาน มี ผบ.เหล่าทัพ-ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมอนุกรรมการ และอนุกรรมการรับฟังพรรค-กลุ่มต่างๆ จัดทำ “ข้อคิดประชาสังคม” มีผู้ทรงคุณวุฒิ รับฟัง รวบรวม ความเห็น เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการลงนาม “สัตยาบัน” พรรค-กลุ่มต่างๆ

มีเสียงจากกระทรวงปืนใหญ่ว่า รายชื่อและโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จำนวน 19 คน เช่น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธาน ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย มี ผบ.เหล่าทัพ , ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม “บิ๊กณัฐ”พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป คสช. (ผอ.ศปป.) และ “เสธ.ต้อง”พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

โดยมี 4 คณะอนุกรรมการ คือคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 23 คน มี พล.อ.วัลลภ เป็นประธาน รวมถึงตัวแทนเหล่าทัพระดับ”พล.ท.”หน่วยละ 2 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผอ.ศปป. ตัวแทนกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คน คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน

อีกด้านก็เป็นงานให้ ‘บิ๊กป้อม’ ได้แสดงฝีมือ บารมี ที่มีมาดึงพรรค กลุ่มการเมือง นปช. กปปส. ร่วมวง เพราะ ‘บิ๊กป้อม’ ถือเป็น “มือประสาน” ของคสช.และนายกฯมาตลอด ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีมากับฝ่ายการเมืองเดิม ครั้งเป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาล ‘ทักษิณ’ และครั้งเป็น รมว.กลาโหม ยุครัฐบาล’อภิสิทธิ์’

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร ก็มีกระแสข่าวเป็นนายทุน มือประสาน ให้กลุ่มทุนจนต้องออกมาปฏิเสธ ทั้งกรณีถูกโยงปม “เจ้าสัวเลสเตอร์” นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ปธ.กรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาว์เวอร์ และ ประธานสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ จะรวบรวมทุนให้คสช.ตั้งพรรคการเมือง ลงแข่งขันเลือกตั้ง ไม่เป็นความจริง และโต้กระแสมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่ ‘บิ๊กป้อม’ ต้องออกมาย้ำว่า ไม่อยากเล่นการเมือง ที่ผ่านมาทำงานให้ประชาชนหลายปี แต่ก็ยังมีกระแสข่าวโจมตีตลอด
“ผมไม่เล่นการเมือง เอาชื่อผมไปโยงคงสนุกมั้ง และผมก็เป็นคนไม่ได้มีบารมี อย่างที่พวกคุณมาถามกัน ” พล.อ.ประวิตร กล่าว

อีกทั้งที่ผ่านไปไม่กี่เดือนกับ กรณีนายประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาประชาชน 4 ภาค นายสมาน ศรีงาม เลขาธิการพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย บอก พล.อ.ประวิตรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคอธิปไตยฯเพื่อให้เป็นพรรคทหาร

“ไม่ได้รู้จักกับนายประภาสและนายสมาน และไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการตั้งพรรคดังกล่าว และขอย้ำว่าตนและนายกรัฐมนตรีไม่คิดที่จะเล่นการเมือง” พล.อ.ประวิตร กล่าว

หลายๆอย่างจึงทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นมือที่นายกฯเชื่อใจ มอบงานยากนี้ให้ ปูทางนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อใด ที่เร็วสุด คือ ปี2561 หรือ กลางปี2562

หลังมีการวาดไทม์ไลน์ระยะยาว ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้ออกมาเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีขอพระราชทานร่างรธน.ฉบับประชามติกลับลงมา ก่อนวันที่ 6 ก.พ.2560 – กรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไข รธน.ประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน แก้ไขให้เสร็จและทูลเกล้าฯ กลับไปภายใน 30 วัน (8 มี.ค.2560) – โปรดเกล้าฯภายใน 90 วัน (6 มิ.ย. 2560) – กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำกฎหมายลูก 240 วัน (มิ.ย.-3 มี.ค. 2561) – สนช.พิจารณา 60 วัน (3มี.ค.-2พ.ค.2561) – กรณีแก้ไขเพิ่มเติมอีก 30 วัน (2 พ.ค.-1 มิ.ย. 2561) – ทูลเกล้าฯกฎหมายลูกเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน (30ก.ค. 2561) และ มีกระบวนการเลือกตั้ง 150วัน (ส.ค.-ธ.ค. 2561)

พรรคการเมืองให้ความสนใจการคุยครั้งนี้มาก หลังแผนปรองดองถูกนายกฯเบรกไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการคุยช่วงโค้งสุดท้าย แต่ไม่ท้ายที่สุดของโรดแมป คสช. เพราะโรดแมปยังอีกยาวนานพอสมควร

ยังไม่ทันได้คุย พรรค-กลุ่มการเมืองก็ออกมาตั้ง”เงื่อนไข”การคุยเสียแล้ว ทั้งจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. ที่จะไม่ขอลงสัตยาบันร่วม และพรรคเพื่อไทย ก็เสนอให้ทหารต้องลงสัตยาบัน จะไม่ทำรัฐประหารอีก

จนทำให้ พล.อ.ประวิตร ออกมาตอบโต้ทันควัน เราทำข้อตกลง ส่วนจะลงนามหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่มาตกลงเราจะอยู่กันในอนาคตอย่างสันติ ปรองดอง ตามที่รัฐบาลต้องการ‬ ไม่ขอลงรายละเอียดเป็นรายบุคคล และย้ำว่า ทหารเป็นกลาง ไม่มีขัดแย้ง นายกฯออกมาไม่ได้ปฏิวัติ แต่มาหยุดความขัดแย้ง ตอนนี้เกิดความสงบแล้ว ไม่มีใครอยากปฏิวัติ ไม่ต้องเซ็นต์เอ็มโอยู นอกจากบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้

ถูกมองไปอีกว่าจะเป็นการ “มัดมือชก” นักการเมืองไม่ให้ตกรถไฟขบวนสุดท้าย ด้วยคสช.มั่นใจว่าสามารถคุมพรรค-กลุ่มการเมืองได้เบ็ดเสร็จ ให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เชื่อว่าจะมีทางเดินต่อไปได้ ท่ามกลางคำปรามาสว่าทำไม่ได้ก็ตาม

“สื่อเข้าใจหรือไม่ ถ้าสื่อเข้าใจ นักการเมืองก็ยิ่งเข้าใจกว่าสื่อ ตนไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีการมาชกมาต่อยกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

อีกทั้งข้อเสนอให้กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ไปเป็นคณะกรรมการพูดคุยด้วย ไม่ใช่มีเพียง ผบ.เหล่าทัพ บุคคลจากกองทัพ และผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาลตั้งขึ้นเท่านั้น ให้การคุยสัมฤทธิ์ผลได้ จนทำให้ พล.อ.ประวิตร ต้องออกมายืนกราน ถึงความเป็นกลางของทหาร

“ทหารเป็นกลาง ไม่มีขัดแย้ง นายกฯประยุทธ์ออกมาไม่ได้ปฏิวัติ แต่มาหยุดความขัดแย้ง ตอนนี้สงบแล้ว ไม่มีใครอยากปฏิวัติ ไม่ต้องเซ็นต์‬เอ็มโอยู นอกจากบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้” พล.อ.ประวิตร กล่าว

เหมือนจะเป็น “สัญญาใจ” ที่นักการเมืองมีแก่กัน หรือ คสช. เข้าดีลเรียบร้อยแล้ว จึงเปิดโรงคุยเพื่อเป็นนิมิตรหมาย ว่าจะปรองดองแล้วจริงๆ ด้วยการคุยครั้งนี้ไม่มีบทลงโทษ หากไม่ปฏิบัติตามที่คุย แต่ใช้มาตรการทางสังคมกดดันแทน ไม่หวั่นพรรคการเมือง “คืนคำ”

“ถ้าลงนามแล้ว ไม่มีบทลงโทษ เปรียบเพื่อนตกลงกันแล้ว ไม่ทำตาม จะไปลงโทษยังไง เป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับแล้ว จะไม่ลงนาม ก็ไม่เป็นไร ส่วนจะปรองดองในระยะสั้นหรือยาว ก็ไม่เป็นไร ขอให้เริ่มก่อน‬ ให้ได้ออกมาพูดคุยกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คสช. โค้งสุดท้ายโรดแมป ข่าวลือที่ไม่ใหม่ แต่ไม่เคยเก่า คือ “รัฐประหาร” จะมซ้อน จะมีซ้ำหรือไม่ ที่น่าสนใจ คือ ไม่เคยมีใครกล้า “คอนเฟิร์ม” จะไม่เกิดขึ้นอีก

แต่สูตร “รัฐประหาร” อย่างไรให้รอด เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะ “รัฐประหาร” หลายครั้งก็ล้มเหลว เสียของ สำเร็จ ก็มีตัวอย่างในอดีตให้เห็น และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ

กองทัพมีบทเรียนสำคัญจาก “รัฐประหารปี2534” ที่นำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่ ‘บิ๊กสุ’พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.สส. ในขณะนั้น กล่าว “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นั่งนายกฯรัฐมนตรี จนทำให้เกิดคลื่นมหาชน ประท้วง จนทหารต้องกลับเข้ากรมกองยาว 14 ปี และต้องฟื้นศรัทธาจากประชาชน ซึ่งก็เป็นทหารสายรบพิเศษมาทำงานยากนี้ คือ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ. จากรบพิเศษคนแรก

จนมาถึงการรัฐประหารปี2549 นำโดย’บิ๊กบัง’พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ผบ.ทบ. ในเวลานั้น และให้’บิ๊กแอ๊ด’พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รุ่นพี่รบพิเศษ เป็นนายกฯ มาในช่วงเวลาสำคัญที่กองทัพกลับมาคืนฟอร์ม ทำรัฐประหาร ที่เป็นไทม์ไลน์ยาวมาถึงรัฐประหารปี2557 อย่างปฏิเสธไม่ได้

จึงไม่แปลกที่ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. จะถูกจับตา “รบพิเศษ” กลับมาครั้งนี้ “ไม่ธรรมดา” แน่นอน ในห้วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” และ โค้งสุดท้าย “โรดแมป” ถูกจับตามอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า “รัฐประหาร” จะมีอีกหรือไม่

“ผมตอบไปแล้ว ข้อมูลที่ผมมี และ ตัวผมยืนยันว่าไม่มี และ จะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิวัติ มันไม่มีหรอก เราก็เรียนรู้มาแล้วว่าอะไรคืออะไร อีกทั้งรัฐบาลก็วางหลักเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ป้องกันเหตุการณ์เดิมๆ อีก การเมืองก็ว่ากันไป” ผบ.ทบ. กล่าว

“ไม่มีใครอยากปฏิวัติ นอกจากบ้านเมืองไปไม่ได้ เกิดความขัดแย้ง ไม่มีทหารที่ไหนทำ คือผมอยู่มาแต่เด็กจนอายุ 70 กว่า ไม่มีใครอยากทำ ถ้าปฏิวัติแล้ว ประชาชนไม่เอาด้วย ปฏิวัติแล้ว ก็อยู่ไม่ได้ ไม่เป็นสิ่งน่ากลัวอะไรเลย แต่นี่ประชาชนเขาเห็นชอบ ว่าเราเข้ามาทำให้เกิดความสงบ ผมคิดแบบนี้ เชื่อว่าทหารส่วนใหญ่น่าจะคิดแบบนี้ ไม่มีใครอยากยึดอำนาจ มีอำนาจ ไม่เห็นมีอะไรดีเลย‬ ใครอยากมาแทนผมก็มาเลย ผมไม่ว่า” พล.อ.ประวิตร กล่าว

สะท้อนว่าต้องมีเหตุผลในการทำรัฐประหารในห้วงเวลานั้นๆ และประชาชนเห็นด้วยมากพอหรือไม่ ที่จะสนับสนุนกองทัพ การทิ้งเวลาให้ “สุกงอม” มากพอหรือยัง และสภาพความเป็นสุญญากาศทางการเมือง เพื่อใช้เป็นฐานรองรับว่า “บ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ บ้านเมืองเกิดวิกฤติ” แล้ว

จึงน่าสนใจว่า การลงนามสัตยาบันรอบนี้ จึงอาจเป็น “เงื่อนไข” ให้คณะรัฐประหารในอนาคต ใช้อ้างหาความชอบธรรมได้ ว่า พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่ทำตามข้อตกลง เพราะไม่ได้เขียนบทลงโทษใดๆไว้ ที่สำคัญทหารก็ไม่ร่วมลงนาม ว่า “จะไม่ทำรัฐประหารอีก”

ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ณ เวลานี้ ว่า อนาคตจะสงบ สันติ ไม่กลับมาแบบเดิมจริง หลายคนจึงปรามาสว่า “ปรองดอง” จะไม่เกิดขึ้นจริง

“พรรค-นักการเมือง” เป็น “ลูกไก่ในกำมือ” คสช. เรียบร้อย แล้ว !!