‘เจ้านกกระจอก’ : กาลเวลา จักรวาลวิทยา และความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร

คนมองหนัง

หมายเหตุ : ในโอกาสที่ “เจ้านกกระจอก” ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ผ่านทางแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ จึงขออนุญาตนำบทความที่ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้เอาไว้เมื่อปี 2553 ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ มาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ณ พื้นที่นี้

อโนชา สุวิชากรพงศ์

“เจ้านกกระจอก” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Mundane History” (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ประวัติศาสตร์ทางโลกย์”) คือ ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับฯ หญิงนาม “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ซึ่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เกรซแลนด์” ของเธอเป็นหนังสั้นไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวดอย่างเป็นทางของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส

เจ้านกกระจอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้เติบโตมาพร้อมกับความเหินห่างจากพ่อผู้ให้กำเนิด เขาเป็นอัมพาตจากการประสบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยความผิดพลาดของพ่อ ส่งผลให้เด็กหนุ่มมีความเกลียดชังต่อพ่อของตนเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกคู่นี้ถูกสอดแทรกด้วยบุรุษพยาบาลที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาดูแลเด็กหนุ่ม วันเวลาผันผ่านไปในบ้านโอ่อ่าหลังเก่า ซึ่งเก็บบันทึกความทรงจำต่างๆ ของครอบครัวไว้มากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มร่างพิการกับบุรุษพยาบาลดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ขณะที่บาดแผลทางร่างกายและจิตใจของเด็กหนุ่มก็ค่อยๆ ทุเลาลงทีละน้อย

นี่อาจถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวของไทยที่มีประเด็นเนื้อหาแหลมคมรุนแรง และมีกลวิธีนำเสนออันกล้าหาญมากๆ เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความแหลมคมรุนแรงตลอดจนความกล้าหาญดังกล่าวกลับถูกนำเสนอผ่านรูปลักษณ์แห่งความนัยอันนุ่มนวล ซึ่งได้รับการปกคลุมเอาไว้โดยสัญลักษณ์นานัปการที่ล่องลอยอยู่ในภาพยนตร์

และสามารถสรุปออกมาเป็นหัวข้อสำคัญ 3 ประการตามความคิดของผู้เขียนได้ว่า “กาลเวลา” “จักรวาลวิทยา” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร”

กาลเวลา

ลักษณะโดดเด่นประการแรกในการดำเนินเรื่องราวของเจ้านกกระจอก ก็คือ การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลา มีการสลับเหตุการณ์ก่อน-หลังกลับไปกลับมาอย่างซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลาไม่ได้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่เอี่ยมสำหรับโลกภาพยนตร์ เพราะมีหนังจำนวนมากมายหลากหลายเชื้อชาติเหลือเกินที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบดังกล่าว เพื่อรองรับกับอารมณ์ เนื้อหา หรือแม้กระทั่งความเท่ของภาพยนตร์

แต่สิ่งที่ทำให้การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลาของเจ้านกกระจอกมีความน่าสนใจ ก็ได้แก่ การที่มันถูกนำไปเทียบเคียงกับความคิดเรื่องเวลาในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเป็นมาเก่าแก่โบราณกว่า

นั่นคือ เวลาในแบบ “กรรม” ที่แม้จะไม่ใช่เส้นเวลาหลักของเรื่อง แต่กลับถูกตัวละครสูงอายุบางคนกล่าวถึง หรือตัวละครเช่นบุรุษพยาบาลก็แสดงพฤติกรรมว่าตนเองมีความเชื่อในเวลาแบบดังกล่าว

ในเวลารูปแบบหลังนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ล้วนถูกกำหนดไว้หมดแล้วจากอำนาจเบื้องบน มนุษย์เพียงแต่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามกฎแห่งกรรมเท่านั้น

แม้ประเด็นหลักของเจ้านกกระจอกจะมีความเกี่ยวพันกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความเป็นอนิจจังเช่นกัน แต่เส้นเวลาหลักของเรื่องที่ถูกเล่าแบบไม่เรียงลำดับเวลา ก็ส่งผลให้เวลาในหนังกลายเป็นพื้นที่ว่างที่เปิดกว้างหรือบรรจุไว้ซึ่งเรื่องราวรายละเอียดสามัญเยอะแยะหลากหลาย อันสามารถปรับเปลี่ยนไปมาได้อย่างลื่นไหล

และไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนตายตัวโดยกฎแห่งกรรม (ซึ่งหมายถึงความผิดพลาดจากอดีตชาติที่เราไม่มีทางล่วงรู้ แต่กลับส่งผลคุกคามต่อชีวิตในชาติภพปัจจุบันของเราอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง) ทว่า กลับถูกผลักให้ดำเนินเคลื่อนหน้าไปโดยการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนของมนุษย์ในโลกนี้

หากปะติดปะต่อเรื่องราวที่ไม่ได้ถูกเรียงตามลำดับเวลาในเจ้านกกระจอกได้ ก็ดูเหมือนว่า นอกจากหลักอนิจจังที่หนังนำเสนอจะมีความข้องเกี่ยวกับสภาวะทางธรรมชาติแล้ว มันยังมีความสัมพันธ์กับการกระทำของมนุษย์อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

จักรวาลวิทยา

นอกจากการปะทะกันระหว่างความคิดเรื่องเวลาสองแบบแล้ว เจ้านกกระจอกยังนำจักรวาลวิทยาสองแบบมาพิจารณาเทียบเคียงกัน

จักรวาลวิทยาแบบแรก คือ จักรวาลที่มีเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์เป็นศูนย์กลางอยู่อย่างชั่วกัปชั่วกัลป์ ซึ่งถูกนำเสนอในฉากที่ตัวละครบุรุษพยาบาลนั่งอ่านหนังสือท่องเที่ยวเทือกเขาหิมาลัยให้เด็กหนุ่มร่างพิการฟัง แล้วมีการกล่าวถึงความเชื่อเรื่องเทพเจ้าบนเขาไกรลาศซึ่งเป็นที่นับถือของผู้คนบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่จักรวาลหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะจักรวาลวิทยาที่อโนชานำเสนออย่างจริงจังในเจ้านกกระจอก ก็คือ จักรวาลในแบบดาราศาสตร์-วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ผ่านการอุทิศเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังให้เป็นการกล่าวถึงวงจรชีวิตของดาวฤกษ์ ที่มีช่วงเวลาแห่งการถือกำเนิด ส่องแสงสว่างโชติช่วงชัชวาล และแตกกระจายดับสลาย

น่าสนใจที่ว่า ตัวละครในเจ้านกกระจอกมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมแบบจำลองของระบบจักรวาลที่ “ท้องฟ้าจำลอง” เช่นเดียวกันกับตัวละครในหนังไทยรายได้ทะลุร้อยล้านอย่าง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ”

แต่ในขณะที่เจ้านกกระจอกพยายามพูดถึงดาวฤกษ์ยิ่งใหญ่ซึ่งมีวันดับสลาย รถไฟฟ้าฯ กลับพยายามพูดผ่านเพลง “เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ” ของวงเฉลียง ถึงความเชื่อมโยงของดวงดาวในจักรวาล อย่างมีนัยยะเปรียบเทียบกับสายสัมพันธ์/ความรักระหว่างผู้คนบนโลก แม้ว่าดาวแต่ละดวงและคนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันก็ตาม (เข้าทำนองถึงแตกต่างแต่ไม่แตกแยก)

ความหมายของท้องฟ้าจำลองสองแบบนี้ อาจนำไปสู่การมองสังคมไทยในยุคปัจจุบันด้วยแง่มุมอันผิดแผกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร

ถ้าเรื่องของกาลเวลาคือเส้นเรื่อง ขณะที่จักรวาลวิทยาคือสัญลักษณ์เสริมอันทรงพลังของหนัง ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรก็ถือเป็นเนื้อหาสำคัญใจแกนกลางของเจ้านกกระจอก

หนังนำเสนอความขัดแย้งคลางแคลงใจระหว่างพ่อกับลูก อุบัติเหตุอันเกิดขึ้นจากน้ำมือพ่อส่งผลให้ลูก (อาจจะ) ต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต เรื่องราวของอดีต/ประวัติศาสตร์บาดแผลถูกปล่อยให้เงียบเฉยราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทบทุกคนเพียงแค่แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวและพยายามคิดว่ามันเป็นเรื่องของ “กรรม”

(คู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกในหนัง มีเนื้อหาบางส่วนในเจ้านกกระจอกที่ถูกนำเสนอผ่านรูปแบบของภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรเชิงทดลองซึ่งมีนัยยะน่าสนใจ ภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรดังกล่าวเล่าเรื่องของชายหนุ่มผู้มีปีกและความฝัน แต่แล้ว “ปีกข้างซ้าย” ของเขากลับถูกยิงทำลายจนได้รับความบาดเจ็บ)

แต่ความขัดแย้งคลางแคลงใจยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนชีวิตของตัวละครลูกชายร่างพิการจะมีชีวาตลอดจนความหวังมากยิ่งขึ้น เมื่อตัวละครบุรุษพยาบาลตัดสินใจตั้งคำถามสำคัญว่า อุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างพ่อกับลูกในเจ้านกกระจอก จึงยังคงมีสถานะเป็นความขัดแย้งที่ผู้คนต้องยอมรับถึงการมีอยู่ และไม่มีวันแปรเปลี่ยนเป็นความสมานฉันท์ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างคนสองรุ่น หรือระหว่างผู้ให้กำเนิดกับผู้ถือกำเนิด ได้ถูกตัดขาดออกจากกันนับแต่วันที่คนรุ่นหลังลืมตาดูโลก ดังฉากเด็กทารกถูกตัดสายสะดือในตอนท้ายของหนัง

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอโนชา ประวัติศาสตร์/วิวัฒนาการที่ดำเนินไปจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จึงหมายถึงการตัดขาด หรือความไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยง อันสอดคล้องกับการดับสลาย หรือความเป็นอนิจจัง

ความคิดเช่นนี้อาจไม่ใช่ความคิดกระแสหลักในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่มันก็เป็นความคิดที่ปรากฏผ่านหนังอิสระทั้งที่มีขนาดสั้นและยาวจำนวนหนึ่ง

สิ่งที่เจ้านกกระจอกพยายามนำเสนอจึงคงไม่ใช่ “ปิศาจ” “มนุษย์ต่างดาว” หรือ “สัตว์ประหลาด” สำหรับสังคมไทย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้และหนังอิสระบางเรื่องอาจกำลังแสดงให้เราได้เห็นถึง “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” อีกแบบหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่ง/รุ่นหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย

ในยุคสมัยที่สังคมไทยไม่ได้มี “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” เพียงแบบเดียวอีกต่อไป •

 

| คนมองหนัง