หรือเราจะเป็นกวางในพุ่มไม้กัน

วัชระ แวววุฒินันท์
สิรณัฐ สก๊อต

เชื่อว่าหลายคนคงได้เคยอ่านนิทานอีสปเรื่อง “กวางกับพุ่มไม้” มาแล้ว

นิทานเล่าว่า กวางได้หนีนายพรานที่กำลังออกล่าสัตว์ โดยหลบไปซ่อนตัวอยู่ภายในพุ่มไม้เขียวหนาทึบ และอยู่นิ่งนานจนนายพรานไม่เห็นและผ่านเลยไป เมื่อปลอดภัยแล้วก่อนจะออกจากพุ่มไม้ เจ้ากวางดันไปเห็นว่าพุ่มไม้นั้นมีใบอ่อนน่ากินอยู่เป็นจำนวนมาก ว่าแล้วก็น้ำลายสอ นับว่าเป็นกวางขี้หิวจริงๆ อยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานยังคิดถึงเรื่องกินอีก

มันจึงลงมือสวาปามใบไม้ที่บดบังตนอยู่อย่างชะล่าใจ จนไม่เห็นว่านายพรานได้ย้อนกลับมาเห็นเข้า ก็ขอกินด้วย เอ๊ย ไม่ใช่ ก็เลยยิงกวางตัวนั้นล้มลง

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรคงนึกกันออกนะครับ

ที่ยกเอานิทานอีสปเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า ก็เนื่องจากวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปีถือเป็นวัน “อุตุนิยมวิทยาโลก” เพราะคนเราก็เปรียบเหมือนกวาง โลกใบนี้ก็เปรียบเหมือนพุ่มไม้ ที่ให้เราอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันโลกที่เคยสะอาดสวยงามกำลังจะหมดไป ก็เพราะน้ำมือของมนุษย์ที่อยู่อาศัยได้ลงมือทำลายบ้านของตนเสียเอง และในไม่ช้ามนุษย์ก็จะต้องถึงจุดจบเข้าสักวัน

เพราะทำตัวประดุจกวางขี้หิวไม่รู้จักรักษาที่ที่ปลอดภัยนั่นเอง

“วันอุตุนิยมวิทยาโลก” ตั้งขึ้นโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “World Meteorological Organization” เรียกย่อๆ ว่า WMO ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2493 หรือราว 73 ปีมาแล้ว

จุดประสงค์หลักของการตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาก็เพื่อ “ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน”…. ป้องกันอะไร ก็ป้องกันภัยอันเกิดจากภัยธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งเราก็พอจะรู้ละว่า จะป้องกัน 100% นั้นน่ะเป็นไปไม่ได้ แต่ควรจะหาทางป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วจากการกระทำของมนุษย์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ นอกจากจะไม่ได้ป้องกันภัยแล้ว กลับส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดภัยวิบัติจากธรรมชาติมากขึ้น และถี่ขึ้น รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับเขาก็ราว 30 ปีมาแล้ว ก็ยังดีที่ไม่ตกขบวน

หากใครที่ติดตามเรื่องราวของภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกคงจะเห็นได้ว่า มันเกิดถี่ขึ้น รุนแรงมากขึ้น และสร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า

คงจำกันได้ในกรณีแผ่นดินไหวในประเทศตุรเคีย และบางพื้นที่ของซีเรียเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ที่สร้างความเสียหายสูงมาก ประชาชนหลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย มีผู้เสียชีวิตกว่าสามหมื่นคน

หลังจากการไหวครั้งนั้นและไม่นับอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมา ก็ปรากฏว่ามีการไหวซ้ำไปอีกหลายหน และไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็ได้เกิดพายุซัดเข้ามายังตุรเคีย ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่ผู้ประสบภัยอาศัยในเต็นท์หลายแสนคน จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย เรียกว่าเป็นเคราะห์ร้ายซ้ำซ้อนก็ว่าได้

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกายามนี้ มีภัยจากธรรมชาติกระหน่ำแบบบุฟเฟ่ต์ทีเดียว ทั้งภัยแล้ง และมีพายุหิมะ แถมฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัย ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียก็ต้องผจญกับน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แถมตอนนี้มีพายุหิมะถล่มซึ่งได้เพิ่มให้เกิดปริมาณน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วมาถึงตอนนี้ แคลิฟอร์เนียโดนพายุถล่มไปแล้ว 11 ลูก และจะมีลูกที่ 12 ตามมาอีกไม่นาน

ข้ามมาอีกทวีปหนึ่งที่ประเทศออสเตรเลียก็กำลังเผชิญกับพายุไซโคลนลูกใหญ่และที่นิวซีแลนด์ก็ประสบเหตุแผ่นดินไหวและพายุเข้ากระหน่ำในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ที่ประเทศไทยเองในช่วงต้นปีเป็นต้นมา ก็ต้องผจญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่เจออย่างหนักจนติดอันดับต้นๆ ของโลก

คงเคยได้ยินข่าวว่านายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมามีสุขภาพแข็งแรงดี แต่จู่ๆ ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดขั้นรุนแรง ซึ่งแน่นอนมีสาเหตุมาจากเจ้าฝุ่นนั่นเอง

น่าแปลกใจว่าในขณะที่มนุษย์ทั่วโลกต้องผจญกับปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ แต่มนุษย์เราก็ได้เพิ่มความพิบัติให้กับโลกด้วยการทำสงครามกันในหลายพื้นที่

สงครามเรียกร้องการใช้ทรัพยากรด้านอาวุธเข้าห้ำหั่นกันในอัตราที่สูง ยิ่งสงครามยืดเยื้อผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ก็ยิ่งมากขึ้น และเป็นวงกว้างมากขึ้น พื้นที่ของโลกถูกทำลายล้างมากขึ้น เกิดความร้อนอันเกิดจากยุทโธปกรณ์และการระเบิดที่ใช้รบรากัน สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าล้มตายกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยรวม

หรือสงครามทางเศรษฐกิจที่ประเทศที่มีอำนาจเข้าไปแย่งและครอบครองทรัพยากรในประเทศเล็กๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า เพื่อเร่งหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ อันเป็นเหมือนการฉีดยาเร่งให้โลกนี้ตายเร็วขึ้น

แน่นอนที่การทำสงครามย่อมต้องใช้งบประมาณมหาศาล หากนำเงินจำนวนมากเหล่านั้นมาใช้ในการดูแลรักษาธรรมชาติ และใช้ในการพัฒนาคุณภาพของแหล่งทรัพยากรต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และเพื่อให้เป็นดั่ง “พุ่มไม้ที่ปลอดภัย” จะมิดีกว่าหรือ

ในขณะที่คนหลายคนกำลังทำลายบ้านหลังนี้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ผมได้รู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้พยายามรักษาผืนทะเลที่เขารักเป็นอย่างยิ่ง

สิรณัฐ สก๊อต

เขาคนนี้ชื่อ “ทราย สก๊อต” ชื่อจริงว่า สิรณัฐ อายุ 21 ปี เป็นลูกหลานของตระกูลภิรมย์ภักดี ทรายได้มาออกรายการเจาะใจเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว เขามาออกในฐานะคนคนหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อรักษาเยียวยาท้องทะเลไทยเท่าที่คนคนหนึ่งจะสามารถทำได้

“ตอนช่วงวัยรุ่นทรายได้ตัดสินใจว่าจะหันมาดูแลท้องทะเลไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชื่นชอบ ความรักในทะเลไทยมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งทรายรู้สึกว่าตนน่าจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตรงนี้ได้ ทรายคิดว่าชีวิตของทรายต่อไปอยากอยู่กับทะเลกับงานอนุรักษ์”

ไม่เพียงแต่คิด แต่ทรายได้ลงมือทำจริงๆ ทั้งทำลำพังคนเดียว และชักชวนให้คนที่คิดเหมือนกันมาร่วมกันทำ

หลายคนอาจจะเคยได้ชมหนังสั้นที่เขาใช้ในการโปรโมทงานของเขาชื่อว่า “Merman” เขาแปลงตัวเองให้เป็นนายเงือก ต้องสวมชุดที่ท่อนล่างเป็นปลา แหวกว่ายอยู่ใต้ทะเล ที่มีแต่ขยะเต็มไปหมด และสุดท้ายนายเงือกตนนี้ก็ถูกซากของอวนที่ทิ้งอยู่ในทะเลพันตัวจนต้องมานอนตายเกยชายหาดอย่างน่าสะท้อนใจ

เขาจึงทำโครงการกู้ซากอวนที่ติดอยู่ในซอกหินใต้ทะเลและตามชายฝั่งขึ้นมา เพื่อไม่ให้เป็นอาวุธที่คร่าชีวิตสัตว์น้ำ แน่นอนที่เขาทำคนเดียวไม่ได้ มีทั้งเจ้าหน้าที่จากอุทยานทางทะเล มีคนที่รักทะเลและมีจิตอาสามาช่วยกันกับเขา ซากอวนที่หนักเป็นตันๆ ไม่ใช่งานที่ง่าย แต่ทรายและพรรคพวกก็พยายามเก็บมันขึ้นมาให้มากที่สุด เหมือนทหารกู้ระเบิดยังไงอย่างงั้น

เขาชอบแหวกว่ายน้ำในทะเล ชอบใช้ชีวิตกับทะเล ในตอนเช้าหรือเย็นที่เขาวิ่งออกกำลังกายบนชายหาด เขาจะถือถุงไปด้วย หรือไม่ก็ตอนวิ่งมาราธอนก็ไม่ได้วิ่งตัวเปล่าแต่ได้สะพายตะกร้าใส่หลังไปด้วย เจอขยะบนหาดตรงไหนก็เก็บมาใส่ตะกร้าเพื่อนำไปทิ้ง ไม่ได้ก่นด่าว่าใครที่ทิ้ง เพราะนั่นคงไม่ใช่ตัวตนของเขา แต่เขาทำในสิ่งที่ควรจะทำ

อย่างน้อยหนึ่งแรงที่ทำก็ช่วยธรรมชาติบนผืนโลกใบนี้ได้

สนใจดูความคิดและสิ่งที่เขาทำได้จากเฟซบุ๊ก Psi Scott-มนุษย์เงือก ของเขาได้

“ทรายอยากสร้างโลกที่สวยขึ้น และทรายอยากเอามือไปกอดคน กอดทะเล มากกว่ามาจับเงิน”

เขากล่าวไว้อย่างนั้น

ทราย สก๊อตจึงเป็นตัวแทนของกวางหนุ่มที่เห็นคุณค่าของพุ่มไม้ที่เขาใช้ซ่อนตัวอยู่ ไม่แต่ไม่ทำลาย แต่ได้บำรุงให้ต้นไม้นี้เติบโตอย่างสวยงามเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้

ไม่ใช่เฉพาะวันที่ 23 มีนาคมหรอกซึ่งเป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลกที่เราควรจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่เราควรจะเป็นฝูงกวางที่คิดเป็นในทุกๆ วัน

ไม่รู้ว่าพรรคการเมืองที่หาเสียงกันโครมๆ อยู่ตอนนี้ พรรคไหนมีความจริงใจในการออกนโยบายเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้บ้าง

หรืออยากจับเงิน มากกว่าจะกอดประชาชน…เราก็ไม่รู้ได้ •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์