คนมองหนัง : ‘Plastic Love’ เพลง ‘ซิตี้ป๊อป’ จากญี่ปุ่นยุค 80 ที่ฟื้นคืนชีพในปี 2021

คนมองหนัง

 

‘Plastic Love’

เพลง ‘ซิตี้ป๊อป’ จากญี่ปุ่นยุค 80

ที่ฟื้นคืนชีพในปี 2021

 

“Plastic Love” เพลงที่บันทึกเสียงตั้งแต่ ค.ศ.1984 กลายเป็นผลงานระดับ “แมวเก้าชีวิต” อีกชิ้นหนึ่งในอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศญี่ปุ่น

เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2021 มิวสิกวิดีโอฉบับทางการของเพลงป๊อปอายุเกินสามทศวรรษเพลงนี้ เพิ่งจะได้ฤกษ์เผยแพร่เปิดตัวบนยูทูบ

ขณะที่แผ่นเสียง 12 นิ้วของซิงเกิลดังกล่าว ซึ่งเพิ่งนำมาผลิตซ้ำเพื่อออกวางจำหน่ายใหม่ในเวลาเดียวกัน ก็พุ่งขึ้นไปติดชาร์ตท็อปเท็นอย่างน่าทึ่ง

 

“Plastic Love” เป็นผลงานการแต่งและขับร้องโดย “มาริยะ ทาเคอุจิ” ศิลปินหญิงที่ปัจจุบันมีอายุ 66 ปีแล้ว

เพลงเพลงนี้ถูกนิยามว่าเป็นงานดนตรีแนว “ซิตี้ป๊อป” ที่โดดเด่นด้วยจังหวะกระฉับกระเฉงและเสียงซินธิไซเซอร์

กล่าวกันว่า “ดนตรีที่ทำโดยคนเมือง เพื่อผู้ฟังที่เป็นคนเมือง” ประเภทนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ในญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 1980

ทาเคอุจิเปิดเผยเมื่อไม่กี่ปีก่อนว่า เธอแต่งเพลงดังกล่าวระหว่างตั้งท้องเพื่อสร้างความเพลิดเพลินสนุกสนานให้แก่ตนเอง และไม่ได้ใช้ชีวิตหลงระเริงไปกับมายาภาพทางเศรษฐกิจดังเช่นเพื่อนร่วมชาติรายอื่นๆ

“ตอนนั้น ฉันอยากแต่งเพลงร็อก แต่งเพลงโฟล์ก แต่งเพลงคันทรี แล้วฉันก็อยากแต่งเพลงที่ทำให้คนฟังเต้นตามไปได้ เพลงที่มันมีสำเนียงแบบซิตี้ป๊อป ฉันอยากแต่งเพลงจังหวะ 16 บีต ซึ่งมีเนื้อร้องบรรยายถึงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่”

คำร้องของ “Plastic Love” บรรยายถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียรักแท้ไป แม้หลังจากนั้น จะมีชายมากหน้าหลายตาเข้ามาเกี้ยวพาราสีเธอ แต่เธอกลับไม่สามารถสลัดทิ้งความรู้สึกเปลี่ยวเหงาโดดเดี่ยวอันเกิดจากการสูญเสียครั้งนั้นออกจากหัวใจได้

อย่างไรก็ตาม แผ่นตัด 12 นิ้วของเพลงเพลงนี้ ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนมีนาคม 1985 กลับทำยอดขายได้ไม่ดีนัก โดยอยู่ในอันดับที่ 86 ของชาร์ตซิงเกิล

แม้ว่าตัวอัลบั้มเต็มชุด “Variety” ที่มีเพลง “Plastic Love” บรรจุอยู่ จะทะยานขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งในชาร์ตอัลบั้มก็ตาม

 

จุดกำเนิดใหม่ของ “Plastic Love” มิได้อุบัติขึ้นฉับพลันผ่านมิวสิกวิดีโอและแผ่นซิงเกิลปั๊มใหม่ในปีนี้ แต่ทุกอย่างเหมือนจะค่อยๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ.2017

สี่ปีก่อน จู่ๆ เพลง “Plastic Love” ในเวอร์ชั่นยาวเกือบ 8 นาที ซึ่งอัพโหลดโดยผู้ใช้ยูทูบชื่อ “Plastic Lover” ก็กลายเป็นคลิปไวรัลที่ทำยอดวิวได้เกิน 20 ล้านครั้ง

จนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครรู้จักตัวตนแท้จริงของ “Plastic Lover” ผู้ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเพียงแค่ว่าเขาเป็นนักศึกษาด้านกราฟิก ดีไซน์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เจ้าของนามแฝง “Plastic Lover” เล่าว่าสังคมเกมออนไลน์และวัฒนธรรมอนิเมะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) ได้ชักนำให้เขาเข้าไปทำความรู้จักกับเพลงป๊อปย้อนยุคจากประเทศญี่ปุ่น

นักศึกษาอเมริกันออกตัวว่าตนเองไม่ใช่มนุษย์รายแรกที่อัพโหลดเพลง “Plastic Love” ขึ้นบนยูทูบ เพราะเมื่อปี 2017 ระหว่างที่เขากำลังนั่งฟัง/ชมมิวสิกวิดีโอเพลงอื่นๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มวิดีโอเจ้านี้ สายตาก็ดันสอดส่ายไปเจอคลิปวิดีโอที่ถูกแนะนำอยู่ตรงด้านขวาของจอคอมพิวเตอร์

นั่นคือคลิปที่ใช้ภาพปกเป็นรูปขาวดำ และระบุชื่อเพลง “Plastic Love” โดย “มาเรีย (Maria) ทาเคอุจิ” เอาไว้

ช่วงนั้น ระบบอัลกอริธึ่มของยูทูบแนะนำคลิปวิดีโอดังกล่าวแก่ “Plastic Lover” อยู่ตลอดเวลา (เขาเล่าว่าคนรู้จักหลายรายก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกัน) จนในที่สุด เขาจึงตัดสินใจคลิกเข้าไปฟังเพลงจากประเทศอันห่างไกล แล้วค้นพบว่า “มันโคตรเจ๋ง”

สี่ปีที่แล้ว คลิปเพลง “Plastic Love” ฉบับนั้นมียอดวิวอยู่ประมาณ 3 แสนครั้ง และเป็นเรื่องโชคดีอย่างยิ่งที่ “Plastic Lover” เลือกดาวน์โหลดเพลงนี้เก็บเอาไว้ เพราะหลังจากที่คลิปต้นทางมีคนดูถึงหลักล้านราย มันก็ถูกลบทิ้งออกจากยูทูบ

วันถัดมา “Plastic Lover” รีบนำเพลงญี่ปุ่นสุดเท่ที่เขาดาวน์โหลดเก็บไว้ อัปโหลดขึ้นไปใหม่บนยูทูบ สองวันแรก มีคนดู/ฟังคลิปราวหนึ่งพันครั้ง ก่อนจะเพิ่มเป็นสามหมื่นครั้งในวันที่สาม และแตะระดับหนึ่งแสนครั้งในวันที่สี่

เกร็ดหนึ่งที่เป็นเรื่องตลกร้าย คือ ผู้อัพโหลดรายเดิมนั้นสะกดชื่อภาษาอังกฤษของ “มาริยะ” ผิดเป็น “มาเรีย” โดยตกอักษร “y” ไปหนึ่งตัว และ “Plastic Lover” ก็อัพโหลดคลิปใหม่ขึ้นไป โดยพิมพ์ชื่อศิลปินเจ้าของเพลงผิดเป็น “มาเรีย” ดังเดิม

กว่าจะมารู้ข้อเท็จจริงและลงมือแก้ไขชื่อศิลปินเป็น “มาริยะ” คลิปเพลง “Plastic Love” ที่เผยแพร่ในช่องยูทูบ “Plastic Lover” ก็มีผู้ชมคนฟังมากมายมหาศาลไปแล้ว

และ “มาริยะ ทาเคอุจิ” ก็กลายเป็นศิลปินดังในหมู่คนฟังตะวันตกไปเรียบร้อย

 

อยู่ดีๆ คลิปเพลง “Plastic Love” ในช่อง “Plastic Lover” ก็ถูก “สไตรก์” (มีผู้ยื่นเรื่องให้ลบคลิปดังกล่าวออก ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา)

น่าสนใจว่าผู้ที่ยื่น “สไตรก์” คลิปนี้ ไม่ใช่ศิลปินอย่างทาเคอุจิหรือค่ายเพลงต้นสังกัด แต่ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะภาพนิ่งประกอบคลิป ซึ่ง “Plastic Lover” ก๊อบปี้มาจากผู้อัพโหลดคนก่อนหน้า

ภาพที่ว่าคือรูปพอร์เทรตอันยิ้มแย้มแจ่มใสของ “มาริยะ ทาเคอุจิ” ในวัยสาว ซึ่งเคยถูกใช้เป็นหน้าปกของแผ่นเสียงซิงเกิลเพลงอื่น (ไม่ใช่ “Plastic Love”)

ภาพถ่ายนี้เป็นผลงานของ “อลัน เลเวนสัน” ตากล้องชาวอเมริกัน ซึ่งตัดสินใจยื่น “สไตรก์” คลิปเพลงที่อัพโหลดโดย “Plastic Lover” ตามคำแนะนำของทนายความส่วนตัว

หลายเดือนผ่านไป คลิปก็ถูกลบออกจากยูทูบพร้อมมีการระบุว่ามันโดน “สไตรก์” โดย “อลัน เลเวนสัน” ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ มีคนจำนวนมากส่งอีเมลแสดงความโกรธแค้นชิงชังไปยังช่างภาพสหรัฐ

ในที่สุด เลเวนสันกับ “Plastic Lover” จึงต้องนัดปรึกษาหารือกัน เมื่อฝ่ายแรกพบว่าฝ่ายหลังไม่ได้รับรายได้ใดๆ จากการอัพโหลดเพลง ทั้งยังมีผู้คนเยอะแยะในยูทูบที่รู้สึกไม่พอใจต่อมาตรการด้านลิขสิทธิ์ของเขา “อลัน เลเวนสัน” จึงยอมถอนการ “สไตรก์” และพึงพอใจกับการที่คู่กรณีระบุชื่อเขาเอาไว้ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพประกอบ

กระนั้นก็ตาม เลเวนสันคือผู้หนึ่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มๆ จากการฟื้นคืนชีพของเพลงซิตี้ป๊อปยุค 80 เนื่องจาก “วอร์เนอร์ มิวสิก ญี่ปุ่น” ได้เลือกนำรูปถ่ายของช่างภาพอเมริกันมาตีพิมพ์เป็นปกแผ่นซิงเกิลเพลง “Plastic Love” ฉบับวางจำหน่ายใหม่ในปีนี้

แม้ “วอร์เนอร์ มิวสิก ญี่ปุ่น” เอง จะถูกมองว่าปรับตัวเข้ากับกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ได้อย่างเชื่องช้า คล้ายคลึงกับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมดนตรีร่วมชาติ

เพราะจากกระแสฮอตฮิตในยูทูบเมื่อปี 2017 ทางวอร์เนอร์ฯ ได้ค่อยๆ ปล่อยเอ็มวีเพลง “Plastic Love” เวอร์ชั่นสั้นออกมาในปี 2019 และใช้เวลาสองปี กว่าจะเผยแพร่เอ็มวีตัวเต็ม

 

เอาเข้าจริง ยังมีปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับการถือกำเนิดขึ้นใหม่ของเพลง “Plastic Love”

เช่น จนถึงบัดนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเพลงเวอร์ชั่น 7.57 นาที ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในยูทูบนั้นมิกซ์โดยผู้ใด? และมาจากไหน? (เพลงต้นฉบับมีความยาวแค่ 4.51 นาที ขณะที่เวอร์ชั่น “Extended Club mix” มีความยาว 9.15 นาที)

หรือใครคือคนแรกสุดที่นำรูปถ่ายของ “อลัน เลเวนสัน” มาใช้เป็นภาพปกประกอบคลิปเพลง “Plastic Love” ในยูทูบ?

ทางด้าน “มาริยะ ทาเคอุจิ” ก็เปิดเผยว่า เธอไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่าผลงานของตนเองจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังชาวตะวันตก (แม้คำร้องอาจมีภาษาอังกฤษปะปนอยู่บ้าง)

แต่ ณ ปัจจุบัน เพลงซิตี้ป๊อปญี่ปุ่นซึ่งมีอายุใกล้สี่ทศวรรษ กลับเดินทางไปไกลแสนไกลในจักรวาลยูทูบ ชนิดที่ผู้ฟังนานาชาติเหมือนจะไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าเนื้อหาของเพลงถูกขับร้องด้วยภาษาอะไร

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา มีคนรักดนตรีทั่วโลกรู้จักเพลง “Plastic Love” มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนศิลปินรุ่นหลังหลายรายก็พากันนำเพลงดังกล่าวไปขับร้อง-บรรเลงใหม่ตามแบบฉบับของตนเอง

“ไบรอัน แอชคราฟต์” ชาวเท็กซัสผู้สนใจวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น สรุปถึงปรากฏการณ์ฟื้นคืนชีพของเพลงป๊อปยุค 80 เพลงนี้ไว้อย่างคมคายว่า

ในที่สุด “Plastic Love” ก็ได้ค้นพบรักแท้ อันคู่ควรกับตนเองเสียที

 

ข้อมูลจาก

https://kotaku.com/decades-later-mariya-takeuchi-s-plastic-love-is-a-top-1848081072

https://pitchfork.com/thepitch/mariya-takeuchi-plastic-love-youtuber-alan-levenson-interview/