คนมองหนัง : ‘อภิชาติพงศ์’ Call Out! ‘จูรี่ไพรซ์’ จากคานส์ สะท้านถึง ‘การเมืองไทย’

คนมองหนัง
ภาพโดย Christophe Simon / AFP

 

‘อภิชาติพงศ์’ Call Out!

‘จูรี่ไพรซ์’ จากคานส์

สะท้านถึง ‘การเมืองไทย’

 

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” พาหนังยาวเรื่องล่าสุดคือ “Memoria” ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส มาได้อีกคำรบหนึ่ง

โดยในเทศกาลประจำปี 2021 ซึ่งเพิ่งรูดม่านปิดฉากลง ผู้กำกับฯ ชาวไทยเพิ่งจะได้รับรางวัล “จูรี่ไพรซ์” ตัวที่สองของตนเอง หลังจากเขาเคยได้รับรางวัลดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2004 จากหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด”

เอาเข้าจริง หลังฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่คานส์ในวันที่ 15 กรกฎาคม ทัศนะของนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ ซึ่งมีต่อหนังเรื่อง “Memoria” นั้นอยู่ในระดับ “ดีมาก”

หนังเรื่องใหม่ของอภิชาติพงศ์ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของ “ตารางให้ดาว” จากสื่อมวลชนหลายสำนัก

ถ้าพิจารณาเฉพาะคะแนนเฉลี่ยจากบรรดานักวิจารณ์แล้ว “Memoria” นั้นดูจะมีภาษีเหนือกว่า “Titane” ภาพยนตร์ฝรั่งเศสของผู้กำกับฯ หญิง “จูเลีย ดูคอร์เนา” ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำประจำปีนี้ไปครองเสียอีก

 

“ปีเตอร์ แบรดชอว์” นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากเดอะการ์เดียน คือคนหนึ่งที่ให้คะแนน “ห้าดาวเต็ม” แก่ “Memoria”

“อภิชาติพงศ์ได้ตรึงคุณเอาไว้ด้วยวิธีการจับจ้อง (มองสิ่งต่างๆ) อย่างไม่ยอมลดละของเขา ขณะที่ความหมายที่เขาประกอบสร้างขึ้นก็คล้ายจะหลุดลอยออกจากโรงภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่คุณได้ล่องลอยออกจากเก้าอี้ในโรงหนังเพื่อติดตามไปพานพบมัน

“ท่ามกลางความสมจริงอันสงบนิ่ง ด้วยภาษาภาพยนตร์ที่ไม่ยากซับซ้อนเกินเข้าใจ แท้จริงแล้ว ผู้กำกับฯ รายนี้สามารถทำให้คุณเชื่อได้ว่าคนเป็นกับคนตาย, อดีตกับปัจจุบัน, มนุษย์โลกกับชีวิตอื่นๆ นั้นดำรงอยู่เคียงข้างกัน

“Memoria คือภาพยนตร์ที่งดงามและลี้ลับ เป็นภาพยนตร์แนวเนิบช้าที่จะทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจคุณชะลอตัวลง”

นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากข้อเขียนของแบรดชอว์ ซึ่งระบุว่าผลงานของอภิชาติพงศ์ควรได้รับรางวัล “กรังด์ปรีซ์” (หนังยอดเยี่ยมลำดับที่สอง) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้

 

ขณะที่ “เอริก โคห์น” แห่งเว็บไซต์อินดี้ไวร์ บรรยายถึงมิติทางประวัติศาสตร์-การเมืองของหนังเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“คนทำหนัง (ชาวไทย) เรื่องนี้เองก็เป็นคนนอกของสังคม (โคลอมเบีย) ที่มีประวัติศาสตร์ความรุนแรงและการต่อสู้ทางชนชั้นอันสลับซับซ้อน

“Memoria มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำความเข้าใจลำดับชั้นอันลึกซึ้งของอัตลักษณ์แห่งชาติดังกล่าว ด้วยการตระหนักว่าคำตอบบางเรื่องนั้นยังคงถูกเก็บซ่อนอยู่ภายใต้ความลึกลับของอดีตเสมอมา

“ถ้าลุงบุญมีระลึกชาติได้แสดงนัยยะถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองของประเทศไทย ผ่านเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ

“Memoria ก็นำงานออกแบบเสียงอันซับซ้อน ซึ่งแปลกประหลาดและก่อให้เกิดความพลิกผันฉับพลันประหนึ่งนิยายวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง มาใช้สำรวจตรวจสอบกระบวนการสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศโคลอมเบียในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่รากเหง้าของชนพื้นเมืองก็ยังคงซ่อนแฝงตัวอยู่ในวิถีชีวิตสามัญปกติทั่วไป”

 

ส่วน “แพต บราวน์” จากสแลนต์แม็กกาซีน วิเคราะห์เจาะลึกถึงนัยยะของ “เสียง” ใน “Memoria” ว่า

“ในทางทฤษฎี เสียงคือแรงสั่นสะเทือนซึ่งไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แต่มันมักตกหล่นอยู่ตรงอาณาเขตที่ไม่ค่อยถูกรับรู้โดยผู้คน นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 เคยคาดการณ์ว่าทุกๆ เสียง ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นบนโลกใบนี้นั้น ยังคงดำรงอยู่ ณ ที่ใดสักแห่ง

“ไม่นานมานี้ มีนักวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเสนอว่าวัฒนธรรมต่างๆ ในยุคก่อนเทคโนโลยีอะนาล็อก ได้มีกระบวนการบันทึกจัดเก็บเสียงของตัวมันเองโดยบังเอิญ เช่น บทสนทนาทั้งหลายที่แฝงฝังอยู่บนลวดลายของเครื่องปั้นดินเผา ไม่ต่างอะไรจากร่องเสียงบนแผ่นเสียง

“ถ้าเสียงคือปรากฏการณ์ทางกายภาพ ดังนั้น เราจะสามารถได้ยินสรรพเสียงทั้งหลายจากอดีตกาล ผ่านเครื่องมือรับเสียงที่มีศักยภาพในการนำเสียงต่างๆ จากอดีตมาถ่ายทอดสู่ปัจจุบัน

“นี่คือพรมแดนทางปรัชญาที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังแนวเนิบช้าชั้นครูจากประเทศไทย พยายามสืบเสาะค้นหา ผ่านภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขา”

 

หากประเมินในแง่ฐานานุศักดิ์ แม้รางวัล “จูรี่ไพรซ์” ซึ่งบางคนเห็นว่าคือ “รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลำดับที่สาม” บ้างก็มองว่าเป็น “รางวัลขวัญใจกรรมการ/รางวัลชมเชย” ที่อาจด้อยค่ากว่า “รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์-บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” เสียอีก จะยังเทียบไม่ได้กับ “รางวัลปาล์มทองคำ” ที่อภิชาติพงศ์เคยได้รับเมื่อปี 2010 จาก “ลุงบุญมีระลึกชาติ”

แต่ดูเหมือนคุณค่าที่ “Memoria” แสดงออกมาให้สาธารณชนประจักษ์ จะไม่ได้อยู่ที่ตัวรางวัลหรือแสง-เสียง ซึ่งปรากฏบนจอภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังอยู่ตรง “จุดยืน-ท่าทีทางการเมือง” ของทีมงานผู้กำกับฯ-นักแสดงด้วย

ระหว่างการเดินพรมแดงก่อนฉายหนังรอบปฐมทัศน์ “เอลกิน ดิแอซ” นักแสดงนำชาวโคลอมเบียของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้นำธงชาติโคลอมเบียพร้อมข้อความ “S.O.S” (ขอความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน) มาชูขึ้นต่อหน้ากองทัพช่างภาพ

หลังจากรัฐบาลโคลอมเบียเพิ่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งออกมาแสดงความไม่พอใจนโยบายขึ้นภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและโควิดระบาด กระทั่งมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

สารทางการเมืองดังกล่าวถูกขยับขยายขอบเขตอย่างสำคัญ ผ่านคำกล่าวบนเวทีมอบรางวัลของอภิชาติพงศ์

“ผมรู้สึกโชคดีที่ได้มายืนที่นี่ ขณะที่เพื่อนร่วมประเทศของผมจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ พวกเขาหลายคนประสบกับความทุกข์ยากขนานหนักจากวิกฤตโรคระบาด อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการทรัพยากร ระบบบริการสุขภาพ และการจัดหาวัคซีน ที่ผิดพลาด

“ผมขอเรียกร้อง (Call Out) ให้รัฐบาลไทยและโคลอมเบีย รวมถึงรัฐบาลจากประเทศอื่นๆ ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ได้โปรดตื่นขึ้น และทำงานเพื่อประชาชนของคุณ ณ บัดนี้” ผู้กำกับฯ ชาวไทยประกาศหลังได้รับรางวัล “จูรี่ไพรซ์”

อภิชาติพงศ์ยังถือโอกาสแสดงจุดยืนทางการเมืองเพิ่มเติมระหว่างงานแถลงข่าวเป็นรายบุคคลของผู้ได้รับรางวัลที่คานส์ประจำปีนี้

“โคลอมเบียคือประเทศที่ผมรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากๆ เมื่อคำนึงถึงความวิตกกังวลที่ผู้คนที่นั่นมี รวมทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียมและความไม่พอใจที่ยังดำเนินอยู่ นั่นคือสิ่งที่พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันกับประเทศไทย

“มันเป็นเรื่องใจสลายสำหรับผม ที่จะต้องพูดว่า ในขณะที่โคลอมเบียจัดการกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงด้วยกระสุนปืน

“แต่สำหรับที่ไทย เราจัดการประชาชนด้วยกฎหมาย เราฆ่าประชาชนด้วยกฎหมาย คุณรู้ใช่ไหม เราจับประชาชนไปขังคุก เราสังหารจิตวิญญาณของคนหนุ่ม-สาว เรามีคนรุ่นเก่าจำนวนมากมายที่ต้องการและยังคงจะกดขี่ปราบปรามเยาวชน

“ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่า สำหรับตัวเองแล้ว ที่นี่ (เทศกาลภาพยนตร์) คือพื้นที่เดียวที่ผมจะสามารถใช้บอกกล่าวให้คุณได้รับทราบถึงสถานการณ์ที่นั่น (เมืองไทย)

“ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดหนักในประเทศไทย และประชาชนก็กำลังทุกข์ทรมานแสนสาหัส คุณรู้ใช่ไหมว่าสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่ที่นี่ สิ่งที่ผมกำลังทำที่นี่ มันคือการมีอภิสิทธิ์ ซึ่งบางครั้งมันก็ทำให้ผมรู้สึกละอายใจ ที่ตัวเองไม่สามารถจะลงมือทำอะไรได้

“อีกทั้งยังมีความหวาดกลัวต่อกองทัพรวมถึงระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งพยายามจะปิดปากประชาชนให้เงียบเสียงลง”

 

ถ้อยคำประกาศกล้าของอภิชาติพงศ์ที่ฝรั่งเศส คงผลิดอกออกผลอันเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่และประชาชนหลากเจเนอเรชั่นในสังคมการเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย

ดุจเดียวกันกับที่ “ทิลดา สวินตัน” นักแสดงระดับโลกชาวสก๊อต ได้กล่าวถึงกระบวนการทำงานของนักทำหนังวัย 51 ปีชาวไทย ในเชิงอุปมาเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เขา (อภิชาติพงศ์) จะโยนความคิดที่มีอยู่ในหัวตัวเองให้แตกกระจายออกไป แล้วพวกเรา (นักแสดงและทีมงาน) ก็จะทำหน้าที่ไปตามเก็บส่วนเสี้ยวเล็กน้อยเหล่านั้น หรือไม่พวกเราก็จะลงมือเพาะปลูกความคิดดังกล่าวร่วมกัน คล้ายๆ กับการลงแขกเกี่ยวข้าวนั่นแหละ”