ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

หากเหลือบตาจาก “ขอแสดงความนับถือ” ไปยังหน้า 5 ที่อยู่เคียงข้างกัน

คงแลเห็นโฆษณาเชิญชวนเข้าร่วมการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์-การ์ตูนสะท้อนสังคม “มติชน อวอร์ด”

ซึ่งหากสังเกตต่อสักนิด

มีการเปลี่ยนแปลง ที่มีนัยสำคัญอยู่ไม่น้อย

นั่นคือ เดิม เราแจ้งเปิดรับสมัคร “เรื่องสั้น-กวีนิพนธ์-การ์ตูนสะท้อน” เข้าประกวด ระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ 2567-30 มีนาคม 2567

แต่ปรากฏว่า มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย

ทั้งผู้ที่สนใจอยากส่งผลงานเข้าประกวด และผู้ที่ติดตามโครงการมติชนอวอร์ด เสนอแนะมาว่าระยะเวลา 2 เดือนอาจจะกระชั้นชิดไปสักนิด

เราน้อมรับฟังคำเสนอแนะอันมีค่านี้

ดังนั้น จึงขอแจ้งข่าวดี และเริ่มตีฆ้องร้องป่าวไปแล้วว่าจะขยายการเปิดรับสมัครผลงานที่จะส่งเข้าประกวด

โดยเพิ่มระยะเวลาอีก 1 เดือน

คือ เปิดรับผลงานตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีผู้ส่งผลงานเข้ามาแล้วอย่างน่าอบอุ่นใจ ไปสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2567

ย้ำ 1 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2567

ซึ่งก็น่าจะมีเวลาเพียงพอที่จะกลั่นผลงานดีๆ มาร่วมมติชนอวอร์ด ในปี 2567 นี้

 

ระหว่างรอผลงานที่จะส่งเข้ามาประกวด

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

พิณพิพัฒน ศรีทวี ขอ “อุ่นเครื่อง” มติชนอวอร์ด ด้วยบทความพิเศษ

“แก่นของความเป็นมนุษย์ในเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด : กรณี หมวกของอาฮัด”

เป็นการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด ปี 4 ประจำปี 2558

“หมวกของอาฮัด” เขียนโดย “ศิริ มะลิแย้ม” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

เรื่องสั้นเรื่องนี้ รวมเล่มใน “สัจนิรันดร์ของวันอาทิตย์” (สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2559) ร่วมกับเรื่องสั้นและบทกวีที่ได้รับรางวัลในปีนั้น

และ ศิริ มะลิแย้ม นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในรวมเรื่องสั้น “นักออกแบบห้วงมายากาล” (กรกฎาคม 2565) ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขาเอง

“พิณพิพัฒน ศรีทวี” ย้อนกลับไปอ่านเรื่องสั้นดังกล่าว

ปรากฏว่า ได้รับแรงดาลใจ และได้แง่มุมคิด จาก “หมวกของอาฮัด” มานำเสนอ อย่างน่าสนใจ

น่าสนใจอย่างไร พลิกอ่านได้ที่หน้า 57

และเคียงคู่กับบทความพิเศษ พิณพิพัฒน ศรีทวี นั้น

อย่าพลาด “เรื่องสั้น-สั้น” มนัส สัตยารักษ์ (หน้า 56)

“ผมเป็นคนไข้ชั้น 14”

“…อาการของผมเมื่อไปโรงพยาบาลตำรวจก็คือเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น อุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติ แพทย์ตรวจแล้วต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ทิ้ง 2 ช่วง ก่อนผ่าตัดส่งไปรอคิวตรวจแบบ petscan ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์เศษ เพราะโรงพยาบาลตำรวจไม่มีเครื่องตรวจนี้

ผมยศต่ำกว่านายพล อาศัยหลาน เหลน ที่เป็นแพทย์ กับหลานเขยที่เป็นนายตำรวจใหญ่ ทั้งหมดช่วยให้ผมได้เป็นคนไข้ชั้น 14 ซึ่งมีห้องพิเศษ (ผู้ดูแลและช่วยเหลือคนไข้มีที่นอนและมีห้องน้ำแยกต่างหาก)

บางเย็นเห็นพระอาทิตย์ใกล้ค่ำและท้องฟ้าสีแดง…”

“…ผมเป็นคนไข้ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจราว 5 เดือน ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ไม่มีใครเรียกผมว่า ‘เทวดา’ เลย ต่างกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่สื่อขนานนามกึ่งยกย่อง กึ่งเหยียบย่ำว่า ‘เทวดา’ ดูเหมือนกองเชียร์หรือแฟนคลับ รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามต่างถูกอกถูกใจกับคำนี้…”

“…ผมเป็นคนไข้ชั้น 14 ก่อนทักษิณ ชินวัตร ประมาณ 3 เดือน อยู่ต่ออีกราว 2 เดือน ก่อนหมดสถานะความเป็นคนไข้ชั้น ‘เทวดา’ เป็นคนไข้ธรรมดา…”

 

นั่นคือประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ มนัส สัตยารักษ์ นำมาถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้น-สั้น

เป็นเรื่องสั้น-สั้น ที่มุ่งยั่วล้อ “ตนเอง” ในฐานะคนธรรมดา มากกว่าที่จะมุ่งไปหาใคร

แต่กระนั้นเชื่อว่า ผู้ที่ได้อ่านเรื่องนี้

คงอดคิดไปไกลๆ กว่านั้นไม่ได้

คืออาจจะไม่ได้เป็นเพียงเรื่องตัวบุคคล

หากแต่ก้าวล่วงไปถึงระบบ–ระบบที่ชวนให้เกิดคำถามมากมายด้วย

 

ใครมี “ประสบการณ์” อย่างที่มนัส สัตยารักษ์ มี

และอยากสะท้อนผ่าน เรื่องสั้น-กวีนิพนธ์-การ์ตูนสะท้อน

โปรดอย่ารั้งรอ

ลงมือเขียน แล้วส่งเข้ามาร่วม “มติชนอวอร์ด”

โดยพลัน! •