ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์จดหมาย (หน้า 6) มีอีเมลจาก “ไบโอไทย”

ความว่า

“…ตามที่รัฐสภายุโรปได้ลงมติผ่อนปรนเกี่ยวกับการควบคุมพืชแก้ไขยีน (new genomic techniques-NGTs) หรือ พืชที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์โดยเทคโนโลยี gene editing ด้วยคะแนนเสียง 307 ต่อ 263 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานั้น

ไม่ใช่เป็นการเซ็นเช็คเปล่าแก่การปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการดังกล่าวแต่ประการใด…”

สะท้อนถึงความไม่สบายใจ ต่อทิศทางของจีเอ็มโอ ที่รุกคืบมาเรื่อยๆ

ถือเป็นทัศนะในเชิงลบ และห่วงใย

 

อย่างไรก็ตาม ข่าวสดออนไลน์ รายงานเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567

เป็นคำสัมภาษณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ระบุว่า

“…ผลการลงมติของสหภาพยุโรปครั้งนี้ ตอบโจทย์ และสอดคล้องกับนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลอย่างถูกเวลา

ซึ่งสมาชิกสภายุโรปเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งมีความปลอดภัยสูงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มาช่วยในการลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพ และผลผลิตด้านการเกษตร

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเทคโนโลยี genome editing หรือ gene editing (GEd) ภาคเกษตรสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร และร่างหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมสำหรับประเทศไทย”

ถือเป็นทัศนะในเชิงบวกและมีความหวัง

 

ไม่ว่าท่าทีของไบโอไทย

ไม่ว่าท่าทีของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ล้วนเป็นสิ่งที่เราในฐานะทั้งพลเมืองไทย และพลเมืองโลก คงจะต้อง “ล้างหูฟัง”

ฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ

เพื่อที่จะวางท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้

แน่นอนอาจไม่จำเป็นต้องรีบมีข้อสรุปใดๆ

การเปิดใจกว้าง รับข้อมูลในหลายๆ ด้าน น่าจะดีที่สุด

และ มติชนสุดสัปดาห์ พร้อมเป็นเวทีกลางในเรื่องนี้

 

หากใครติดตาม และค่อยเคี้ยวๆ ข้อมูล จากคอลัมน์ Biology Beyond Nature ของ ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

จะได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจและสนุกกับการติดตาม ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค

แน่นอนเป็นการบุกเบิก ที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมายทั้งประเด็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จริยธรรมและการเมือง

จากระเบิดนิวเคลียร์ ที่สร้างหายนะมหาศาลให้มวลมนุษยชาติ

ถูกกดดันให้นำไปสู่การไถ่บาปครั้งใหญ่และเปิดโลกวิทยาศาสตร์ในเชิงบวก

นำไปสู่กลุ่มวิจัยด้านชีวทฤษฎีและชีวฟิสิกส์

นำไปสู่โครงการวิจัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เพื่อดูเรื่องผลกระทบของกัมมันตรังสีต่อพันธุกรรมมนุษย์

ต่อยอดไปสู่ความเป็นไปได้ในการอ่านจีโนมมนุษย์

เพื่อก้าวสู่จุดสุดยอดภารกิจของมวลมนุษยชาติในการไขความลับชีวิตมนุษย์

เทคโนโลยี ธุรกิจ และการเมืองของโครงการจีโนมและวงการไบโอเทคจะไปทางไหนต่อ

ชวนติดตาม ท่ามกลางความหวัง และความหวาดหวั่นกับสิ่งไม่พึงประสงค์

กรณีที่ผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระถูกจับกุม วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากการรายงานข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566

ด้านคอลัมน์ Multiverse โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ได้นำ 10 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในมุมมองของ MIT ปี 2024 มานำเสนอ

แน่นอน 1 ในนั้น ย่อมเป็นเรื่องจีโนม

นั่นคือ การรักษาด้วยการแก้ไขยีนเป็นครั้งแรก โดยเทคโนโลยีคริสเปอร์ (CRISPR)

ซึ่งตอนนี้ เริ่มใช้งานแล้ว

คริสเปอร์ (CRISPR) ย่อมาจาก Cluster Regulary-Interspaced Short Palindromic Repeats เป็นเทคโนโลยีการตัดต่อจีโนม ซึ่งสามารถใช้ในการรักษาทางการแพทย์ได้ เช่น การแก้ไขยีน (gene editing) เพื่อรักษาโรคบางโรค

ซึ่งเป็นความหวังที่จะมีศักยภาพที่จะรักษาโรคอื่นๆ อีกในอนาคต

 

ส่วนคอลัมน์ ทะลุกรอบ โดย ป๋วย อุ่นใจ

พาเราไปลุ้นกับการกู้ชีพแรดที่กำลังสูญพันธุ์

ด้วยเทคโนโลยี “แรดหลอดแก้ว” ภายใต้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproduction Technologies, ART) และเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ (Stem Cell Associated Techniques, SCAT) ที่ก้าวล้ำนำยุค

เป็นการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี วิทยาการใหม่ที่มากด้วยความหวังพร้อมๆ กับความหวาดวิตกของโลก

 

ส่วนของไทย ไม่ว่าทางด้านวิทยาการ สังคม การเมือง

ก็อย่างที่เห็น คืบหน้าช้ามาก หยุดบ้าง ถอยหลังบ้าง

แค่วันนี้ เรายังต้องมารณรงค์แคมเปญ “การนำเสนอข่าว ไม่ใช่อาชญากรรม”

ก็สะท้อนว่าเราตามหลังคนอื่นๆ ไกลแค่ไหน •