ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจไม่สบายใจนัก

กับ “กวี-กระวาด” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

“ใครบางคนถูกเรียกว่าวีรบุรุษ (ขณะฉันยังเป็นแขกในบ้านตัวเอง)” โดย อัลวี วาโญ (วรรณกรรมนกกระดาษ)

 

“…หลายสิบปีผ่านไป

ประชาธิปไตยไม่เคยมีจริงในบ้านของฉัน

บรรพบุรุษของเราบางคนเป็นวีรบุรุษของพวกคุณ

คนที่โบกธงไตรรงค์แล้วกลายเป็นศพในวันที่ 14 ตุลา

ธงที่จารึกชื่อว่าประชาธิปไตย

คล้ายจะมีคนเห็น ‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ คือหนึ่งในนั้น

ก่อนร่างของเขาถูกหย่อนลงในกุโบร์

บนหน้าผากปรากฏรอยริ้วเป็นสีแดง-ขาว-น้ำเงิน

แต่ไม่ใช่สำหรับหะยีสุหลง

ชายผู้ไม่มีหลุมศพเป็นของตัวเอง…

ธงที่เขาลุกขึ้นโบกในอีกไม่กี่ปีต่อมาถูกตีตราเป็นกบฏ

ร่างของเขาเลยจมหายไปในก้นทะเลที่ไหนสักแห่ง…”

 

“สมเด็จ วิรุฬหผล” คือใคร

คงต้องทบทวนความจำสักนิด

เขาคือ “นิสิตมุสลิม” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ภาพของเขาติดอยู่ในห้องสโมสรนิสิตฯ คณะเศรษฐศาสตร์

ปี 2563 ฝ่ายอาจารย์ผู้บริหาร มีดำริจะถอดรูปภาพนี้ลง โดยอ้างจะนำภาพไปคืนครอบครัว

นำไปสู่การล่ารายชื่อคัดค้านนับพันชื่อ

ประกอบกับครอบครัวของพี่ ‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เคยต้องการให้ถอดรูปออก

ที่สุดฝ่ายบริหารยอมให้รูปภาพติดที่เดิมในที่สุด

สมเด็จ วิรุฬหผล ยังเป็นวีรชน

แต่ หะยีสุหลง เป็นอย่างไร

อัลวี วาโญ (วรรณกรรมนกกระดาษ) ได้ให้คำตอบไว้แล้ว ในบทกวีของเขา

อย่างที่บอกคำตอบนั้น อาจทำให้ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่สบายใจ

แต่กระนั้น ความไม่สบายใจดังกล่าว

คงไม่ได้หมายถึงการปิดปากเงียบ ไม่พูดสิ่งที่เกิดขึ้นใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“…ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547

ได้ยกระดับและขยายวงความขัดแย้ง

จนทำให้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้มีสถานะเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของไทย

อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดในวันนั้น ได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมา

จนกลายเป็นปัญหา สงครามยืดเยื้อ ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด

และเป็นสงครามที่กินระยะเวลายาวกว่าสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ใช้เวลาทั้งหมด 18 ปี (จากวันเสียงปืนแตกในปี 2508 จนถึงการประกาศการสิ้นสุดของสงครามในปี 2526)…”

 

นั่นคือ บทเกริ่นนำ ในยุทธบทความ ของ สุรชาติ บำรุงสุข

เรื่อง “สู่ปีที่ 21 สงครามภาคใต้!”

ซึ่งนำไปสู่ “ปุจฉาความมั่นคง 25 ประการ”

เป็นปุจฉา ที่ฝ่ายความมั่นคง ควรต้องมีคำตอบ

ตั้งแต่ปุจฉา ใน “เบื้องต้น”

คือ…การปล้นปืนเกิดมาครบ 20 ปีแล้ว เรามีคำตอบหรือไม่ว่าในวันนั้น “ใคร” ในเชิงตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้า หรือ “กลุ่มติดอาวุธ” ใดที่เปิดปฏิบัติการชุดนี้

รวมถึงผลสืบเนื่องที่ตามมา คือ

ในรอบ 20 ปีมีการก่อเหตุถึง 10,392 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4,577 ราย บาดเจ็บ 11,349 ราย ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนมากที่สุดถึง 4,577 ราย และประชาชนบาดเจ็บมากที่สุด 6,182 ราย

จะมีมาตราการการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และรวมถึงชุมชนที่เป็นเป้าหมายอย่างไร

แน่นอน คำตอบ ถืออนาคต ที่ทุกคนก็ต้องการรับทราบ

กล่าวคือ รัฐไทยจะกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ในปีที่ 21 ของสงครามชุดนี้อย่างไร

 

“สุรชาติ บำรุงสุข” ได้ตั้งข้อพึงสังวร สิ่งสำคัญที่ไม่ควรเกิดขึ้น

นั่นก็คือ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะต้องไม่ทำแบบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ที่มีปัญหาหลัก 4 ประการ คือ

ไร้สาระทางยุทธศาสตร์

ไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

ไร้ทิศทางทางยุทธศาสตร์

และสร้างปัญหาทางยุทธศาสตร์กับอนาคต

เพราะหากเป็นเช่นนั้น

บทกวี “ใครบางคนถูกเรียกว่าวีรบุรุษ (ขณะฉันยังเป็นแขกในบ้านตัวเอง)”

ก็ยังคงต้องถูกขับขานต่อไป •