ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

“นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร”

คือคำสอนใจ “คนขยัน”

ซึ่งเมื่อพูดถึงคำว่า “ขยัน” แล้ว

หลายคนคิดถึงนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”

ที่ชูธง “ควิก วิน” เป็นแนวทางในการทำงาน

แน่นอน จะ “ควิก” ได้ ก็ต้องมีความ “ขยัน” เป็นธรรมดา

ส่วน “ขยัน” แล้ว จะ “วิน” หรือได้ผล (งาน) สำเร็จหรือไม่

อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนจะประเมินอย่างไร

ซึ่งขอไม่ก้าวล่วง ปล่อยให้ผู้อ่านใช้อัตวินิจฉัย

เพียงแต่อยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่ง

เป็นมุมมองที่ “ตรงกันข้าม” กับความ “ขยัน”

นั่นคือ ความ “ขี้เกียจ”

 

เมื่อ “นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร” คือแนวทางของ “คนขยัน”

แล้วหาก “หนอนที่ตื่นสายมักรอดตายจากนกที่ตื่นเช้า” เล่า จะมองอย่างไร

มองเป็น “คำสอนใจ” หรือแนวทางของ “คนขี้เกียจ” ได้หรือไม่

ซึ่งอาจไม่ใช่เป็น “การยั่วล้อ” เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

หากแต่มี “อะไรให้คิด” ด้วย

ซึ่งบทความพิเศษ ที่หน้า 34 ของ ด๊อกเตอร์จักรกฤษณ์ สิริริน ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นำเสนอให้คิดและพิจารณา

 

ความ “ขี้เกียจ” ที่บางสังคมก่นประณาม และถึงขั้นถูกลงทัณฑ์ ด้วยแลเห็นว่า “คนขี้เกียจ” เป็น “ปรสิตสังคม”

ถึงกับตรากฎหมายเพื่อกำหนดให้ “ความเกียจคร้าน” เป็น “ความผิดทางอาญา” กันเลยทีเดียว

แม้จะ “เลวร้าย” ขนาดนั้น

แต่ก็มีคนบางกลุ่ม ชูธง “ขี้เกียจ” ขึ้นมาแกว่งไกว

หนึ่งในนั้นคือ Lucy Gransbury นักแสดงหญิงชาว Australia

ที่ประกาศว่า

“ทัศนคติแบบยึดถือความขยันขันแข็งเป็นสรณะนั้น ล้าสมัยไปเสียแล้ว แถมยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งกายและใจอีกด้วย”

เธอบอกว่า บางที การทำตัว “ขี้เกียจ” ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น งีบหลับ หรือเอกเขนกนิ่งๆ บนโซฟา ถือเป็นการถนอมร่างกายและใจไปในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี

“ฉันคิดว่า ความขยัน หรือการทำงานหนักในสังคมยุคนี้ มิได้มอบรางวัลชีวิตให้แก่เรามากมายเหมือนเช่นอดีตอีกแล้ว” Lucy Gransbury กล่าว

และนี่ไม่ใช่วิถีชีวิตที่คนรุ่นใหม่จะยอมจำนนอีกต่อไป

อะไร และทำไม คนรุ่นใหม่จึงต้องสมาทาน “ความขี้เกียจ” นั้น

แน่นอน ต้องเริ่มตั้งแต่ ปรับมุมมองใหม่ ว่า “ความขี้เกียจ” ไม่ใช่สิ่งผิด

และไม่ใช่เรื่องแย่ในชีวิตคน

ซึ่ง Lucy บอกว่า “คนขี้เกียจ สมควรได้รับการยกย่องมากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นเพราะพวกเราได้ค้นพบหนทางลัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไปสู่จุดหมาย”

อย่างเธอค้นคิดประดิษฐ์วิธีทำงานบ้าน ที่ทั้งประหยัดเวลา และออมแรง ไม่ว่าจะเป็นการล้างห้องน้ำพร้อมกับอาบน้ำ หรือเป่าผมพร้อมเป่าเสื้อผ้าให้ทั้งแห้งและเรียบได้ในคราวเดียวกัน

พร้อมกับอ้างอิง คนฉลาดที่สุดในโลก อย่าง Bill Gates ที่แนะนำว่า

“ให้เลือกคนขี้เกียจเข้าองค์กร เพื่อให้ทำงานยากๆ เพราะคนพวกนี้จะพยายามหาหนทางง่ายที่สุด เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง”

ซึ่งถือเป็นมองมุมกลับ ที่คาดไม่ถึง

อย่างที่ Lucy ย้ำว่า นวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองความขี้เกียจทั้งนั้น

และนอกจากนั้น ที่น่าสนใจ ยังมีงานวิจัยทางวิชาการ ที่ชี้ว่า “คนขี้เกียจ” ใช้ “พลังสมอง” มากกว่า “คนขยัน”

ดังนั้น ความขี้เกียจ จึงไม่อาจ “เลวร้าย” อย่างที่คิด

 

ขณะนี้ คนไทยอยู่ในบรรยากาศการเมืองแบบ “ควิก วิน”

และหลายคนกำลังเฝ้ารอพายุหมุนใหญ่ทางเศรษฐกิจ จากการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องของ “ความเร็ว ความเร่ง”

จนทั้ง คนทำ และคนรอผลจากการทำ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน

จึงคงไม่แปลก หากจะมีบางคนเลือกทำตัวให้ “ขี้เกียจ” บ้าง

จะได้พัก และผ่อนคลายบ้าง

เผลอๆ อาจได้ค้นพบหนทางลัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไปสู่จุดหมาย แบบ “สโลว์ วิน” ก็ได้ ใครจะรู้ •