ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

บ้านเมืองของเรา จากนี้จะเป็นอย่างไร

หลายคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ให้คำตอบ

“ปัจจุบันกาฬ”

คือ สิ่งที่ ละไมมาด คำฉวี สะท้อนผ่านคอลัมน์ รูปที่ไร้ใจครอง (หน้า 70)

โปรดสังเกต “กาฬ” ที่มิใช่ “กาล”

ทำไมต้อง กาฬ

ละไมมาด คำฉวี รจนาไว้ตอนหนึ่งว่า

“แผ่นดินที่ต้องอบอุ่นกลับหนาวเย็น

ทั้งที่แดดแผดเผาจนไม้ใหญ่น้อยห่อเหี่ยว

ทุ่งกว้างถูกวัชพืชกินแดนแคบเข้าทุกที

รั้วใหม่ด้อยคุณภาพผุพังด้วยแมลงบ่อนเบียน

ลมไม่รู้ทิศไกวผืนธงเก่าคร่ำไหวรุ่งริ่ง…”

 

ด้านคอลัมน์ หลังลับแลมีอรุณรุ่ง ของ ธงทอง จันทรางศุ (หน้า 52)

นำภาวะ “สังคมปกติ-ไม่ปกติ” มาตั้งคำถาม

ตั้งคำถาม หลังมีผู้สร้างรูปปั้นขึ้นมารูปหนึ่ง แล้วนำมาตั้งไว้กลางแจ้งใกล้กับสี่แยกรัชดาลาดพร้าว

อธิบายว่าเป็นรูปแทนตัวครูอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด

รูปปั้นที่ว่านั้น อาจารย์ธงทองบอกว่า ไม่มีทางที่จะบอกได้แน่นอนว่าสวยงาม

เพราะมองด้วยสายตาของคนที่เป็นมาตรฐานวิญญูชนทั้งหลายแล้วย่อมเห็นว่าพิลึกกึกกือเต็มที

แถมด้วยลักษณะน่าขนพองสยองเกล้าด้วย

อาจารย์ธงทองปุจฉาว่า รูปปั้นที่ว่านั้นใช้ชื่อขึ้นต้นนามว่า “ครู”

คนเป็นครูก็ต้องสอนหนังสือ

แล้วครูคนที่ว่านี้สอนอะไรบ้าง

คือคำถามที่อาจารย์ธงทองโยนเข้าสู่สังคม

และโฟกัสไปที่กระทรวงอีกหลายกระทรวง และกรมอีกนับสิบกรม ที่ต้องถามตัวเองว่า เรื่องอย่างนี้เกี่ยวกับเราหรือไม่

หรือจะปล่อยไปตามยถากรรม

อย่างน้อยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ต้องไปวิจัยกรณีนี้

ถามว่า กระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวอะไร

อาจารย์ธงทองบอกว่า กรมสุขภาพจิตนั่นอย่างไร ใจคอจะไม่ยอมเกี่ยวข้องกันบ้างเลยหรืออย่างไร

“(และ) เรายังต้องลากสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพและสื่อมวลชนออนไลน์ทั้งหลาย สถาบันครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการตั้งและตอบคำถามตรงนี้ด้วย…ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ปกติ” อาจารย์ธงทองกระตุ้น

พร้อมหยอดไว้อย่างขื่น-ขื่น ว่า

“…ถามกันแค่นี้เห็นจะพอนะครับ ถ้าถามขึ้นไปถึงรัฐบาลจึงกำลังตั้งไข่อยู่ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ยังไม่รู้ ท่านจะมาตอบอะไรได้

ท่านไม่มาไหว้ครูคนที่ว่า ขอพรอยู่กลางสี่แยกให้ตั้งรัฐบาลได้ก็บุญนักหนาแล้ว…”

…หรือจะมี “ว่าที่รัฐมนตรี” โผล่ไปไหว้ ประมาทไม่ได้ เมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้

อันนี้อาจารย์ธงทองไม่ได้ว่า แต่ “มติชนสุดสัปดาห์” ต่อสร้อยให้เอง (ฮา)

ว่าแล้ว เราไปตรวจ “สุขภาวะประชาธิปไตยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ที่ “อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์” รายงานไว้ในคอลัมน์ โลกทรรศน์ (หน้า 88) กันดีกว่า

ปรากฏว่า สถานะประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่า กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไม่ดีเอาเสียเลย

แน่นอนย่อมรวมถึงไทยด้วย

อาจารย์อุกฤษฏ์บอกว่า การที่พรรคก้าวไกลชนะได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล

ไม่ใช่เพราะพวกเขายังเด็ก และก็ไม่ใช่นโยบายของพรรค

แต่การเมืองไทยซับซ้อนซ่อนพลังอำนาจนิยมของฝ่ายอนุรักษนิยม พรรคพันธมิตรทหาร

ที่ใช้เครื่องมือทุกชนิดสกัดกั้น

เป็นการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยของพลังอำนาจนิยมที่หลอมรวมพันธมิตรทางการเมืองชั่วคราวของฝ่ายอนุรักษนิยม เข้ามาจัดการกับฝ่ายประชาธิปไตยไทย

นำไปสู่ อสุขภาวะประชาธิปไตย อย่างชัดเจน

และแม้ว่า ตอนนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมที่มีพันธมิตรคือ กองทัพ พรรคนิยมทหารและกลุ่มทุนผูกขาด อาจจะยอมหรือ ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล

แต่ถามว่า อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยจะมีมาก หรือยั่งยืนแค่ไหน

 

คําถามนี้ อาจารย์อุกฤษฏ์จึงสรุปไว้ว่า ทำให้รัฐบาลไทยเปราะบาง

ประชาธิปไตยไทยยิ่งเปราะบางกว่า

ขณะที่อนุรักษนิยมและอำนาจนิยม ยังคงเข้มแข็ง

ไม่โฉ่งฉ่าง เหมือนเมียนมา กัมพูชาก็จริง

แต่เร้นลับกว่า!! •