ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มีอีเมลจาก

“ยสวัต ป้อมเย็น”

เนื้อหาน่าสนใจ

โปรดพิจารณา

 

หลายอาทิตย์ก่อน อ.บัญชา ธนบุญสมบัติ เขียนถึงฟรานซิส กัลตั้น กับผลงานเรื่องแผนที่สภาพอากาศและเมฆ

ไหนๆ ก็กำลังจะเลือกตั้งอยู่แล้ว อยากจะเพิ่มเติมสิ่งที่ฟรานซิส กัลตั้น เคยค้นพบในช่วงบั้นปลายของชีวิต

เกี่ยวกับ “เสียงของประชาชน”

ในปี 1907 กัลตั้นได้ตีพิมพ์บทความที่ชื่อ “Vox Populi” แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวก็คือ Voice of People หรือเสียงประชาชน

แต่หลังๆ มามีการประดิษฐ์คำที่ดูหรูหราขึ้น คือ “Wisdom of the crowd”

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดแบบเดียวกัน

 

ในบทความ กัลตั้นเล่าถึงการไปเที่ยวชมงานแสดงปศุสัตว์และสัตว์ปีกที่เมืองพลีมัธ ประเทศอังกฤษ

ในงานมีการแข่งขันทายน้ำหนักวัวที่ผู้จัดจูงออกมาให้ผู้ร่วมงานได้ลองทายกัน

โดยผู้จะร่วมแข่งต้องซื้อตั๋วเพื่อทายน้ำหนักวัว มีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาณ 800 คน

เมื่อจบการแข่งขัน กัลตั้นจึงไปคุยกับผู้จัดงานเพื่อขอตั๋วที่ผู้ร่วมแข่งขันทายผลกันมา เพื่อนำมาคำนวณว่าที่ผู้แข่งขันร่วมทายกันมามีความผิดเพี้ยนไปเป็นจำนวนอย่างไร

สิ่งที่กัลตั้นค้นพบก็คือ ในตั๋วที่ผู้เข้าแข่งทายมานั้น ไม่มีใครทายน้ำหนักวัวได้ถูกแบบเป๊ะๆ เลยซักคน

แต่เมื่อนำน้ำหนักที่ผู้แข่งทายกันมาหาค่าเฉลี่ยแล้ว

กัลตั้นพบว่าค่าเฉลี่ยที่ได้นั้นใกล้เคียงกับน้ำหนักจริงของวัวยิ่งกว่าค่าที่ผู้ชนะทายเอาไว้ซะอีก

และค่าเฉลี่ยนี้มีความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% จากการคำนวณของกัลตั้น

และกัลตั้นยังเน้นย้ำด้วยว่านี่เป็นการลงคะแนนเสียงแบบ “หนึ่งคน หนึ่งโหวต”

กัลตั้นเขียนสรุปสั้นๆ ว่าสิ่งที่กัลตั้นเห็นและคำนวณมาทั้งหมดนั้นบ่งบอกให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของการตัดสินใจด้วยกระบวนการประชาธิปไตยนั่นเอง

 

ผ่านไปเป็นเวลานาน มีนักวิชาการทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ขยายความแนวคิดของกัลตั้นว่า สิ่งที่กัลตั้นสังเกตและสรุปนั้นจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบางอย่างครบถ้วน นั่นคือ

– ผลลัพธ์ที่ถูกต้องนั้นมีอยู่จริง ตัวอย่างคือมีน้ำหนักของวัวที่ถูกต้องอยู่เพียงค่าเดียว

– คนที่โหวตหรือเข้าแข่งขันนั้นตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกโน้มน้าว (หรือกดดัน/กดขี่) จากคนอื่นๆ ที่ร่วมโหวตด้วย ไม่มีปรากฏการณ์ “พวกมากลากไป”

– คนที่โหวตต้องมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” กับสิ่งที่กำลังโหวตกันอยู่ เช่น ค่าตั๋วเพื่อเข้าแข่งในกรณีของการทายน้ำหนักวัว หรือกรณีของการเลือกตั้งทั่วไปก็คือเป็นประชาชนผู้เสียภาษีนั่นเอง

– ยิ่งมีความหลากหลายในกลุ่มคนโหวต ผลที่ได้ก็ยิ่งแม่นยำขึ้น นั่นหมายถึงคนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ฯลฯ

 

ขอเสริมข้อมูลของกัลตั้นเพิ่มเรื่องที่อาจจะเรียกว่าเป็นผลงาน “อื้อฉาว” ของกัลตั้นก็ว่าได้ นั่นคือ “สุพันธุศาสตร์” หรือ Eugenics

Eugenics เป็นแนวคิดที่กัลตั้นมีมานานจากการสังเกตว่า ความเก่ง ความฉลาดนั้นสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้

แต่ในสมัยนั้นการวัดไอคิวยังไม่มี แม้กัลตั้นจะลองคิดค้นการทดสอบความฉลาดด้วยตัวเองแต่ผลที่ได้ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงความฉลาดกับการสืบเชื้อสายได้ (เรื่องนี้เป็นต้นกำเนิดของการคิดสถิติที่ชื่อว่า “สมการถดถอย – regression” และ “สหสัมพันธ์ – correlation” แต่เอาไว้เล่าให้ฟังโอกาสอื่นดีกว่า)

ในช่วงที่นาซีเยอรมนีเรืองอำนาจ หนึ่งในข้อเสนอ/เหตุผลที่นาซีใช้เพื่อกำจัดชาวยิวก็คือยูเจนิกส์นี่แหละ

แม้ว่าในขณะนั้นการศึกษายูเจนิกส์จะเริ่มไม่เข้ากระแสทั้งในอังกฤษและในอเมริกาแล้วก็ตาม (และกัลตั้นก็ตายไปแล้วด้วย)

อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่ายูเจนิกส์เป็นผลงาน “ชิ้นเอก” ของกัลตั้น (ไม่นานมานี้ UCL ที่เคยเป็นที่ทำงานของกัลตั้นเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อห้องเรียนใหญ่ห้องหนึ่งที่ตั้งชื่อตามกัลตั้นเพราะว่าเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับยูเจนิกส์นี่เอง)

แต่ถ้ากัลตั้นไม่ได้ “หมกมุ่น” กับแนวคิดเรื่องการถ่ายทอดความเก่งความฉลาดจากรุ่นสู่รุ่น สถิติบางอย่างที่กัลตั้นเป็นผู้ริเริ่มอาจจะเกิดช้า โลกของเราอาจจะไม่เจริญเท่านี้ก็ได้

 

สุดท้ายนี้

ขอฝากให้ผู้อ่านไปเลือกตั้งกันโดยใช้สติปัญญาของตัวเองในการตรึกตรองให้ถี่ถ้วนว่าเราควรเลือกพรรคไหนคนใดเป็นผู้แทนของเรา

โดยใช้ข่าวสารข้อมูลจากสื่อที่หลากหลายไม่เอนเอียงข้างใดมากเกินมาช่วยตัดสินใจ

ยสวัต ป้อมเย็น

สิ่งที่ “ยสวัต ป้อมเย็น” แตกยอดจากงานของ อ.บัญชา ธนบุญสมบัติ

ที่เขียนถึง “ฟรานซิส กัลตั้น”

น่าสนใจยิ่ง

น่าสนใจที่ “วิทยาศาสตร์” ย่างบาทไปอธิบาย “รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์”

อันว่าด้วยการ “เลือกตั้ง” อย่างแยบยล คมคาย

และช่วยตอกย้ำว่า ทำไมการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

หรือแสดง “เสียงประชาชน” จึงสำคัญ

เพราะค่าเฉลี่ยของเสียงประชาชน จะนำไปสู่สิ่งที่ “ฟรานซิส กัลตั้น” สรุป

นั่นคือนำไปสู่ความน่าเชื่อถือของการตัดสินใจด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

แม้ว่าจะต้องมีเงื่อนไขหลายอย่างเอื้ออำนวยก็ตาม

แต่ “เสียงประชาชน” ก็สำคัญยิ่ง

ดังนั้น 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

อย่านิ่งเฉย ไปร่วมส่งเสียงประชาชนให้ “กึกก้อง” •