ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

โลกดิจิทัลที่เรารู้จักและเริ่มคุ้นชิน

มีทั้งด้านสว่าง และด้านมืด

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ขอนำเสนอเนื้อหาทั้ง “สองด้าน” นั้น

 

กล่าวถึงด้านสว่างก่อน

บทความพิเศษ ของ “จักรกฤษณ์ สิริริน” (หน้า 35)

ว่าด้วยเรื่อง “ยกทรง 4.0”

Kemisola Bolarinwa วิศวกรหญิงชาวไนจีเรีย สูญเสียคุณป้าของเธอไปจากมะเร็งเต้านมระยะที่ 3

เธอเห็นว่า หากป้าตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ได้ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสที่จะรักษาได้

ด้วยผู้ป่วยจำนวน 9 ใน 10 คนที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะแรก สามารถรักษาให้หายได้

เธอจึงตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง

เพื่อช่วยชีวิตของผู้หญิงคนอื่นๆ ให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม

เป็นที่มาของ “ยกทรง 4.0”

 

“ยกทรง 4.0” ถูกออกแบบให้มีสมรรถนะคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นได้

“ทำได้ภายระยะเวลาเพียง 30 นาที” Kemisola Bolarinwa บอก ซึ่งเร็วและง่ายมาก

น่ายินดีที่ยกทรงรุ่นแรกนี้จะเปิดตัวในเดือนเมษายนที่จะถึง

และเธอคาดหวังว่า “ยกทรง 4.0” จะได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้หญิงทั่วโลก

พร้อมทั้งกำลังมองหาความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อที่จะนำ “ยกทรง 4.0” ไปใช้ในคลินิกท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้โดยง่ายขึ้น

ถือเป็น “ด้านสว่างไสว” ของโลกดิจิทัล ที่จะได้สัมผัสในเร็วๆ นี้

 

ส่วนในด้านมืด โปรดพลิกอ่านที่หน้า 60

“คงกฤช ไตรยวงค์” แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นำเสนอบทความ “กลิ่นหอมของเวลาในโลกดิจิทัล”

โดยนำหนังสือ The Scent of Time (กลิ่นหอมของเวลา) นักปรัชญาเยอรมันเชื้อสายเกาหลีอย่าง บย็อง-ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของเวลาในสังคมสมัยใหม่และผลกระทบที่มีต่อชีวิตของเรา มาสะท้อนถึง ด้านมืดของโลกดิจิทัล

โดยฮันระบุว่า เวลา กลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งในสังคมร่วมสมัย

ทำให้ผู้คนรู้สึกกดดันตลอดเวลาที่จะต้องใช้ประโยชน์จากมัน

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสบความสำเร็จ

การมุ่งเน้นที่เวลาอย่างต่อเนื่องนี้

ได้นำไปสู่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะของความอ่อนล้าและความเหนื่อยหน่าย

เกิดความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อและความเหงา

แต่กระนั้น เราก็ยังถูกกระตุ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ให้ทะยานไปสู่ความสำเร็จให้ได้

โฆษณาสินค้าที่ว่า Just do it

ซึ่งมีความหมายโดยว่า ลงมือทำเลย ทุกอย่างเป็นไปได้อยู่แล้ว

กระตุ้นคนในโลกดิจิทัลตลอดเวลา

พร้อมๆ กับกระตุ้นนั้น ได้ทำให้เกิดพวกขี้แพ้ (losers) และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พร้อมกันไปด้วย

ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีการนำเสนอภาพชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จของคนอื่นจำนวนมาก

ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของตัวเอง

ทั้งๆ ที่ภาพที่นำเสนอเหล่านั้นถูกดัด ตัด แต่งมาแล้ว

ซึ่งน่าขื่นขำก็คือ

เรามักจะใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อดัดใบหน้าและรูปทรงของเราให้สวยงามดูดี จนกระทั่ง “โลกเบี้ยว” ในความหมายตามตัวอักษร

พูดอีกอย่างคือ เราพยายามนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นจุดขาย แต่ข้างในกลวงเปล่า

อัตราการฆ่าตัวตายในสังคมที่แข่งขันกันสูง

ก็เป็นผลมาจากผู้คนที่มุ่งสู่ความสำเร็จแล้วกลายเป็นพวกขี้แพ้นี่เอง

 

อาจารย์คงกฤชชี้ว่า ประสบการณ์หลายอย่างของมนุษย์ที่ยึดโยงกับเวลา กำลังได้รับผลกระทบ

เช่น การพักผ่อนกลายเป็นการเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ

แม้แต่เวลานอนซึ่งเป็นสิ่งที่หมายถึงจุดสิ้นสุดของวัน

ก็กลายเป็นประสบการณ์อันแสนทุกข์ทรมานจากอาการนอนไม่หลับ

แทนที่จะเป็นเวลาที่อุ่นสบาย เรากลับได้ยินเสียงนาฬิกาดังติ๊กต็อก

เวลาที่ถูกทุบแตกเป็นเสี่ยงๆ นี้ ส่งผลกระทบให้ตัวตนของเรากลายเป็นเสี้ยวส่วนที่ขาดความต่อเนื่องไปด้วย

เมื่อเวลาแตกเป็นเสี่ยงๆ ประสบการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลา (duration) หรือกลิ่นหอมของเวลาก็เสื่อมสลายคลายมนต์ขลังไปด้วยเช่นกัน

ในเงาแห่งความมืดของโลกดิจิทัล เราไม่ได้กลิ่นหอมของเวลามานานแล้วหรือยัง!?!

 

อนึ่ง ในบทความ “กลิ่นหอมของเวลาในโลกดิจิทัล” ของอาจารย์คงกฤช เชื่อมโยงไปถึงแชตบ็อต ที่กำลังฮิต “ChatGPT” อย่างแยบคาย

ทั้งนี้ แชตบ็อต ChatGPT ถือเป็นตัวอย่างของโลกดิจิทัลที่มีด้านสว่างและด้านมืดอยู่ในตัวเอง

ซึ่งในคอลัมน์ Cool Tech ของ “จิตต์สุภา ฉิน” (หน้า 34)

พาเราไปสัมผัสแชตบ็อต ChatGPT เพื่อให้รู้เท่าทัน

ทั้งด้านสว่างที่มีประโยชน์มากเกินกว่าจะถูกปิดกั้น

ขณะเดียวกันหากใช้ ChatGPT ไม่ถูกต้อง

มนุษย์ก็อาจตกอยู่ในด้านมืดมิด ที่ดันให้เราไป “รวมทาสสร้างชัย” ให้กับ “AI” ก็ได้ (ฮา) •