ขอแสดงความนับถือ

คําว่า “ผมพอแล้ว” อันเป็นอมตะวาจา ที่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกยกย่องเป็น “รัฐบุรุษ”

ด้วยแสดงให้เห็นถึงความพอในอำนาจ

แต่อมตะวาจานี้ ดูเหมือนจะถูก “เก็บไว้ในลิ้นชัก”

ไม่ได้นำมาเป็นบทเรียน สำหรับนายทหารที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และยังกระทำ “ตรงกันข้าม” ด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการจะไปต่อ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

จะสำเร็จ หรือล้มเหลว

อีกไม่นานคง “ประจักษ์”

 

เมื่อกล่าวถึง “ประจักษ์” แล้ว

โปรดอย่าพลาดบทความของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ที่พูดถึง “อนาคตของการเมืองแบบอุปถัมภ์”

แน่นอน ย่อมเกี่ยวข้องถึงอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

โดยอาจารย์ประจักษ์เชื่อมโยงผ่านหนังสือของอาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรื่อง “อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” ที่สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์

อย่างที่ทราบ การเมืองแบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างช้านานในสังคมไทย

แต่ในยุคหลังการปฏิรูปการเมืองปี 2540

อาจารย์เวียงรัฐเห็นว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ดังกล่าวมีพลวัตที่กำลังพัฒนาไปในเชิงบวก

มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง

มีการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น

มีการนำเสนอนโยบายมาแข่งขันกันภายใต้กระบวนการเลือกตั้งที่มีความหมาย

ทำให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองมากขึ้นกับรัฐ พรรคการเมือง และนักการเมือง

สิ่งที่นักการเมืองนำมาแลกคะแนนเสียงของชาวบ้านผู้เลือกตั้ง

ไม่ใช่แค่เงิน 500 บาท หรือบ่อน้ำและสะพานในหมู่บ้านเหมือนแต่เดิม

แต่ต้องนำนโยบายที่จับต้องได้ในการพลิกเปลี่ยนโอกาสในชีวิตมานำเสนอ

เช่น การประกันสุขภาพ การเข้าถึงแหล่งทุน สวัสดิการที่พักอาศัย การศึกษาของลูกหลาน ฯลฯ

การข่มขู่บีบบังคับให้เข้าคูหากาบัตรเริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัย

 

กระนั้น อาจารย์ประจักษ์เห็นพ้องกับอาจารย์เวียงรัฐ ว่า พลวัตในทางบวกนี้ ได้ถูกทำให้หยุดชะงัก หลังเข้าสู่ยุคการรัฐประหารของ “คสช.”

เผด็จการรวมศูนย์อำนาจของ คสช. ได้ทำลายรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

มีการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ผูกขาดรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

ระบบราชการกลับมาเป็นใหญ่ ทำลายเครือข่ายการรวมกลุ่มของภาคประชาชน

คสช.หันกลับไปรื้อฟื้นการเมืองแบบอุปถัมภ์ที่อิงกับบารมีส่วนบุคคล (เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล นายหน้าทางการเมือง)

ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนสั่นคลอน

ทรัพยากรทางอำนาจที่เชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองกับประชาชนถูกดึงกลับมาสู่ระบบราชการ

ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองทางการเมืองลดลง

ประชาชนกลายเป็นผู้พึ่งพิงที่ต้องคอยรับการแจกเงินและความเมตตาจากรัฐ

ภาวะเช่นนี้ อาจารย์เวียงรัฐขนานนามว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลัง”

ความความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลัง

เป็นความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนฐานของการใช้อำนาจบีบบังคับ และการสร้างแรงจูงใจทางลบ

เช่น การข่มขู่และความรุนแรงสารพัดรูปแบบ

นักการเมืองจำนวนมากก็ถูกบีบบังคับด้วย “เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” (คดีความต่างๆ การข่มขู่ด้วยกลไกรัฐ การปรับทัศนคติ ม.44) ทำให้ต้องย้ายพรรคและมาสยบยอมต่อการสร้างฐานอำนาจและสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร คสช.

ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลังนี้ทำให้ คสช.ครองอำนาจมากว่า 8 ปี

และตอนนี้ บางคนหวังว่าจะสืบทอด เพื่อทำให้ได้ไปต่อ

“รวมไทยสร้างชาติ” และการเข้าร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตาว่าคือปฏิบัติการนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ในความคาดหวังดังกล่าว อาจารย์ประจักษ์เตือนว่า มรดกของ คสช.กำลังมาถึงทางแพร่งสำคัญ

ที่อาจจะทำให้ฝันไม่เป็นจริงได้

ด้วยการเมืองแบบอุปถัมภ์ล้าหลัง จะมีประสิทธิภาพน้อยลงในสนามเลือกตั้งปี 2566

เพราะเหตุผลหลายๆ ประการ

มีอะไรบ้าง พลิกอ่านที่หน้า 20

อ่านแล้ว จะได้ร่วมพิจารณาไปกับอาจารย์ประจักษ์ว่า “ทรงอย่างตู่” จะสู้ได้ไหม

หรือจะเป็นอย่าง ทรงอย่างแบด

ที่ต้อง “แซด” อย่างบ่อย! •