‘อย่าเพิ่งเชื่อ!’ ติดตามข่าวโลกอย่างไร จึงรู้เท่าทันข่าวลวง?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

‘อย่าเพิ่งเชื่อ!’

ติดตามข่าวโลกอย่างไร

จึงรู้เท่าทันข่าวลวง?

 

ใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศที่กำลังร้อนแรงในหลายๆ ด้านคงจะมีคำถามเหมือนที่ผมถูกถามมาตลอดว่า

สำนักข่าวต่างประเทศไหนน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน

คำตอบของผมทุกครั้งก็คือ “ฟังหูไว้หู”

“อย่าเพิ่งเชื่อ…เช็กก่อน!”

เหมือนคำเตือนที่คุณสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการข่าวบีบีซีภาคภาษาอาเซียน และคุณวิสุทธ์ คงวัชรพงศ์ นักข่าวรุ่นอาวุโสอีกคนหนึ่งในวงการนำมาให้ผมดูวันก่อน

เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้าน Fake News ที่มีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. เป็นหัวหอกอยู่ขณะนี้

หรืออีกนัยหนึ่งคือยังไม่เช็กก็อย่าเพิ่งเชื่อ

เท่ากับว่าบางทีฟังหูไว้หูยังไม่พอ ต้องฟังมันสองหูพร้อมๆ กันเลย!

หรือภาษาฝรั่งเขาจะบอกเขาว่า Trust but verify!

ก็เป็นอันเข้าใจว่าวลีนี้มีรากมาจากสุภาษิตรัสเซีย เพราะคำว่า “เชื่อ” กับ “เช็ก” ในภาษารัสเซียนั้นสัมผัสและคล้องจองกัน

คำนี้กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศเพราะซูซาน แมสซี (Suzanne Massie) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รัสเซียไปกระซิบข้างหูอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โรนัลด์ เรแกน ตอนที่กำลังเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์กับผู้นำรัสเซีย

เป็นหลักการของผมในการติดตามข่าวสารจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ช่วงนี้มีข่าวสงครามหลายสมรภูมิจากทั่วโลก จึงต้องเอาจริงเอาจังกับวิธีการ “เช็กให้ชัวร์”

ความจริง ผมได้แรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่องนี้ในวันนี้เพราะได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กของคุณวินทร์ เลียววาริณ เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง ที่ผมติดตามมาตลอด

ผมชอบที่คุณวินทร์บอกว่า

“ไม่มีสำนักข่าวใดดีที่สุด เราต้องอ่านให้เป็น”

เห็นตรงกันเป๊ะเลย

ขออนุญาตนำเอาแนวทางของคุณวินทร์มาอ้างอิง

แกบอกว่า

ผู้อ่านอาจสังเกตว่าในโพสต์ก่อน ผมอ้างอิงบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว CNN และ Al Jazeera

สองสำนักข่าวนี้มักเสนอข่าวคนละเรื่องเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นการคานความคิดกัน

ผมอ่านข่าวจากหลายสำนัก CNN, BBC, The New York Times ฯลฯ บางสำนักยุโรป เช่น Reuters ทางฝั่งเอเชียก็อ่าน The Straits Times ของสิงคโปร์ที่มักอ้างรอยเตอร์ รวมถึงสำนักข่าวจีน เช่น China Daily, XinHua และ The South China Morning Post ของฮ่องกง

ผมอ่านแบบวิเคราะห์เสมอ จึงเห็นว่าหลายสำนักเห็นไม่ตรงกัน และมีวิธีเสนอข่าวต่างกัน บางครั้งก็ยัดเยียดแบบเนียนๆ บางรายก็แบบทื่อๆ (หลายสำนักในบ้านเราก็เสนอข่าวแบบนี้)

ถ้าอ่านแบบนี้ก็จะมองออกเวลาบางสำนักเปลี่ยนจุดยืน ซึ่งสะท้อน ‘คำสั่ง’ จากผู้ให้ข่าว ยกตัวอย่าง เช่น CNN

ในช่วงแรกของสงครามกาซา CNN ไม่รายงานความสูญเสียฝั่งปาเลสไตน์เลย ขณะที่ Al Jazeera บอกตัวเลขคนตายทุกวัน แต่หลังจากมีโพลเรื่องไบเดนคะแนนตกต่ำ เพราะชาวอเมริกันเชื้อสายตะวันออกกลางบอกว่าจะไม่เลือกไบเดนปลายปีนี้ ทันใดนั้น CNN ก็เสนอข่าวชาวปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลฆ่า ข่าวเอ็นจีโอที่ขนของไปช่วยชาวกาซาถูกฆ่าตาย ปรากฏขึ้นเกือบทุกวัน และข่าวไบเดน (เริ่ม) ด่าอิสราเอล

การเปลี่ยนจุดยืนแบบนี้ ทำให้ต้องวิเคราะห์ว่าอาจมี ‘อำนาจ’ บางอย่างต้องเปลี่ยนภาพของอิสราเอล

ดังนี้เป็นต้น

การวิเคราะห์จึงต้องวิเคราะห์ทั้งข่าวและสำนักข่าวไปด้วย

สำหรับสำนักข่าว Al Jazeera เป็นของตะวันออกกลาง ออกทุนส่วนหนึ่งโดยรัฐบาลกาตาร์ แต่เท่าที่อ่านข่าวโดยรวม ถือว่าเสนอข่าวแบบไม่รวมความเห็นแทรกในข่าว (ยกเว้นบทความที่ไม่ถือว่าเป็นข่าว)

แม้แต่สำนักข่าวจีนที่เรารู้ว่าถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน ก็ไม่ได้แปลว่าข่าวที่เสนอใช้ไม่ได้

เพียงแต่เราต้องอ่านอย่างระวัง และแยกแยะให้ออกระหว่างข่าวกับโฆษณาชวนเชื่อ (อย่าลืมว่าแม้แต่ CNN ก็มีโฆษณาชวนเชื่อ)

เมื่อมองข่าวหลายสำนัก หลายขั้ว หลายค่าย เราก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นบนโลกวุ่นวายใบนี้

คุณวินทร์คงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ติดตามข่าวต่างประเทศจากแหล่งข่าวที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด

เป็นความจริงที่ว่าทุกสำนักข่าวมี “ทิศทาง” นำเสนอของตนเอง บางแห่งก็โจ๋งครึ่ม (เพราะมีคนสั่ง) และบางแห่งก็เนียนๆ

เบื้องหลังของแนวทางข่าวของแต่ละค่ายก็อาจจะมีทั้งคำสั่งจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจโดยตรง

หรือไม่ก็เป็นเพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจ

และ/หรืออคติส่วนตัวของคนรายงานข่าวนั้นๆ

ถ้าเกาะติดไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่ม “รู้เท่าทัน” และไม่ต้องหงุดหงิดกับอาการประหลาดๆ ของการนำเสนอในแต่ละหัวเรื่อง

ผมถือหลักในการพิจารณาว่าสำนักข่าวไหนมีความโน้มเอียงไปทางไหนอย่างไรบนหลักการ เช่น เช็กดูว่าใครเป็นเจ้าของและใครคือนายทุน

ซึ่งอาจจะเป็นรัฐบาลตรงๆ หรือองค์กร หรือบุคคลในบางวงการที่มักให้เงินสนับสนุนแก่สื่อ

ผลที่ตามมาคือเงินทุนนั้นๆ ก็มีอิทธิพลต่อจุดยืนของกองบรรณาธิการ

ตัวอย่างเช่น สื่อของรัฐ เช่น RT ของรัสเซีย (ชื่อเดิม Russia Today) หรือสำนักข่าว Xinhua ของจีนหรือ Radio Free Asia ของสหรัฐ

จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะสะท้อนความคิดเห็นของรัฐบาลของตน

 

จากนั้น ผมก็จะวิเคราะห์น้ำเสียงและภาษาของการรายงานข่าว

บ่อยครั้ง เราจับอคติของรายงานจากการใช้ภาษาที่จงใจสร้างความสะเทือนอารมณ์

หรือไม่ก็ใส่ไข่ พูดเกินจริง หรือการละเว้น ไม่กล่าวถึงรายละเอียดที่สำคัญ

บ่อยครั้งจะพบว่าถ้าเป็นแนวอนุรักษนิยม ภาษาข่าวจะเน้น “กฎหมายและความสงบเรียบร้อย”

ถ้าไปแนวเสรีนิยมก็จะตอกย้ำถึงประเด็นความยุติธรรมทางสังคม

บางรายงานจงใจจะให้เนื้อหาสอดคล้องกับวาระทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

พึงระวังพาดหัวหรือเรื่องราวที่เร้าใจซึ่งดูดีเกินไป (หรือเป็นไปทางลบเกินจริง)

ในหลายกรณี ผมใช้วิธีตรวจสอบว่าข้อมูลบางประเด็นมีพิรุธ ก็จะเข้าไปใช้บริการของเว็บไซต์หลายแห่งที่ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง

เช่น Snopes, FactCheck.org หรือ PolitiFact

อาจมีคำถามต่อว่าแล้วเว็บไซต์เหล่านี้มีความเป็นมืออาชีพแค่ไหน มีความลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่

นั่นคือคำถามที่ต้องถามเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรเหล่านี้ก็อาจจะมีอคติได้

 

แต่จากประสบการณ์ของผมเอง โดยทั่วไปแล้วก็จะพยายามยึดถือมาตรฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เข้มงวดพอสมควร

เพราะเขารู้ว่าถ้าพวกเขาตรวจสอบคนอื่นได้ คนอื่นก็ตรวจสอบเขาได้เช่นกัน

แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองนั้นก็มี “อคติ” ประจำตัวอยู่

ดังนั้น การที่เราจะประเมินว่าแหล่งข่าวที่เราติดตามมี “อคติ” หรือไม่ก็ต้องเปรียบกับ “ความโน้มเอียงส่วนตัว” ของเราด้วย

มันสนุกและท้าทายตรงนี้

ดังนั้น คาถาประจำใจเพื่อไม่ให้กระแสข่าวไหนดึงให้เราหลงทางก็คือ

ไม่พึ่งพาสำนักข่าวเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งสำหรับข่าวชิ้นใดชิ้นหนึ่ง

ยิ่งหากเป็นข่าวของความขัดแย้ง ก็ยิ่งต้องเข้าไปตรวจสอบแหล่งข่าวคนละขั้วเพื่อจะได้ภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

 

อีกหลักหนึ่งคือตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ฟังดูน่าตื่นเต้นหรือสอดคล้องกับเรื่องราวใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป

เช็กแหล่งข่าวที่ (ส่วนใหญ่) น่าเชื่อถือหลายแห่งก่อนที่จะยอมรับว่า “เอาละ ฉันยอมเชื่ออย่างนี้ไปก่อน…จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่มาเปลี่ยนความคิดของฉัน” ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ

การรักษาไว้ซึ่งความสงสัยในขณะเสพข่าวนั้นเป็นข้อพึงปฏิบัติที่จะทำให้เราตื่นตัวและสนุกกับการติดตามข่าวสาร

เราจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงแรงจูงใจเบื้องหลังเรื่องเล่าบางเรื่อง

และพิจารณา “มุมมองทางเลือก” เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของความลำเอียงที่จะทำให้เราหลงทาง

นี่น่าจะเป็นหนทางที่จะพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อประเมินข่าวสารอย่างชาญฉลาด

 

เอาแบบสั้นๆ คาถาที่ท่องประจำใจคือ

วิเคราะห์หลักฐานที่นำเสนอ

พิจารณาบริบท

และตั้งคำถามถึงสมมุติฐานที่เป็นที่มาของรายงานข่าว

แล้วท่านจะเข้านอนและตื่นเช้าด้วยความมั่นใจ (ในระดับหนึ่ง) ว่าในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารปลอมๆ หลอนๆ นั้นเราไม่ถูกใครหลอก

แต่ก็ต้องระวังว่าไม่หลอกตัวเอง

อย่าเพิ่งเชื่อ…แม้แต่ตัวเอง!