ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 2-8 ก.ย. 59

โปเกมอน โก

ทำให้เรารู้จัก เทคโนโลยี เออาร์ (Augmented Reality)

อันมีความหมาย “การมองเห็นโลกจริงที่ทาบทับด้วยสิ่งต่างๆ เช่น รูปวาดและตัวหนังสือ (หรืออะไรก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์)”

แม้เออาร์ มีและใช้มานานแล้ว

แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่า โปเกมอน โก

เพราะโปเกมอน โก เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เชื่อมต่อหรือ “ปลั๊กอิน” เข้ากับโลกอื่น

สนองความ เพ้อฝันกว่า หรือจริงกว่า อย่างที่เราคุ้นเคยได้ดีกว่า

 

คอลัมน์ วิช่วลคัลเจอร์ ของ ประชา สุวีรานนท์ ฉบับนี้

ก็พูดถึงเออาร์

แต่โฟกัสไปที่ “ความจริงเสริม” กับ “นิตยสาร”

โดยเล่าให้ฟังว่า เดอะนิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ฉบับพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ใช้เออาร์กับสื่อกระดาษของตนเอง

โดยถ้ามองปกผ่านดีไวซ์ อย่าง สมาร์ตโฟน

รูปปกซึ่งเป็นรูปวาดผู้หญิงที่กำลังเดินผ่านประตูรถไฟใต้ดิน จะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว

มองดูแล้วอาจจะแสนธรรมดา

ความเป็นเออาร์ ก็น้อยเหลือเกิน ถ้าเทียบกับเกมที่กำลังฮิตอย่าง โปเกมอน โก

แต่น้อย และธรรมดา นี่แหละ ที่ ประชา สุวีรานนท์ ให้ความสนใจ และหยิบมาเขียนถึง

 

อย่าลืมว่า เดอะนิวยอร์กเกอร์อายุกว่าเก้าสิบปีแล้ว

ภาพลักษณ์ คือ สีเหลืองและดำ เหมือนแท็กซี่นิวยอร์ก

อันเป็นสัญลักษณ์ของการ “อนุรักษ์”

มากกว่า “การเปลี่ยนแปลง”

แต่ในที่สุด นิตยสารนี้ ก็ตัดสินใจนำรูปวาดผู้หญิงที่กำลังเดินผ่านประตูรถไฟใต้ดิน ขึ้นปก

อย่างที่บอกตอนต้น “แสนธรรมดา”

แต่เมื่อดูปกดังกล่าว ผ่านดีไวซ์

ผู้หญิงที่กำลังเดินผ่านประตูรถไฟใต้ดิน เคลื่อนไหวได้

สร้างความฮือฮายิ่ง

ทำไมฮือฮา

ทั้งที่เดอะนิวยอร์กเกอร์ไม่ใช่เล่มแรกที่ใช้เออาร์

Esquire เคยพยายามมาแล้ว ปีนี้

The Washington Post ก็ใช้ เพื่ออธิบายคดีตำรวจยิงคนดำในบัลติมอร์ โดยเทคนิคนี้ให้ทั้งรูปสามมิติ เสียง แผนที่ สำเนาคำให้การในศาล และคำบรรยายของผู้สื่อข่าว ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจข้อมูลที่มากมายและซับซ้อนได้

แต่อาจเป็นเพราะ แม้เดอะนิวยอร์กเกอร์ จะเก่าแก่

แต่ก็พร้อม ON THE GO

ON THE GO อย่างคลาสสิค และไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิตอล

ขณะที่ผู้หญิงกับรถไฟใต้ดิน นั้นก็คือวิถีชีวิตของคนนิวยอร์ก

วิถีชีวิตปกติที่คุ้นชิน เฉยชา

แต่กลับถูกทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี

นี่จึงเป็นการขยับตัวของเดอะนิวยอร์กเกอร์ สื่อเก่าที่ “วิช่วลคัลเจอร์” ชี้ชวนให้เอาใจใส่

 

วันที่ 2 กันยายน นี้ เวลา 13.00 น. – 15.00 น. ที่อาคารข่าวสด

มีการเคลื่อนไหวบางประการ สำหรับนิตยสารในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

อันประกอบด้วย นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

นิตยสารเส้นทางเศรษฐี

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

และนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

นั่นคือ จะมีการเปิด เว็บไซต์ ของตนเองของนิตยสาร ทั้ง 4 ฉบับ

แม้อาจจะมาทีหลัง

ไม่ฮือฮาหรือก้าวหน้าระดับโลกอย่าง เดอะนิวยอร์กเกอร์

แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของนิตยสารทั้งสี่

เพราะการที่แต่ละฉบับจะมีที่ทางของตนเองชัดเจนขึ้นในโลกดิจิตอล และสามารถแสดงบุคลิกภาพและการพัฒนาไปสู่สื่อยุคใหม่ ได้ตามที่ต้องการ

เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง

 

กล่าวสำหรับ มติชนสุดสัปดาห์ เอง

เราอาจมี “มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับอีบุ๊ก” ซึ่งก็คือการแปลง “สื่อกระดาษ” ไปอยู่ในสื่อออนไลน์ แบบ 100%

อ่านสื่อกระดาษแบบไหน ก็อ่าน อีบุ๊ก แบบนั้น หน้าต่อหน้า

ขณะเดียวกัน เนื้อหาบางส่วน ของมติชนสุดสัปดาห์ ก็จะไปปรากฏในมติชนออนไลน์ และเฟซบุ๊ก ซึ่งก็เป็นไปตามบุคลิกของสื่อออนไลน์นั้น

แต่ตอนนี้ เราจะมีที่ทางของตนเอง “โดยเฉพาะ” แล้ว

จะไม่ใช่ อีบุ๊ก หากแต่จะค่อยๆ พัฒนา แยก ย่อย เสริม เติม และเพิ่ม บุคลิก แบบใหม่ให้เป็น สื่อดิจิตอล และออนไลน์ อย่างเต็มตัว

มีคลิป มีวิดีโอ มีการถ่ายทอดสด และอื่นๆ ที่เราจะพยายามพัฒนาให้เกิดขึ้นในเวลาอันไม่นาน

สักวันหนึ่ง เราจะ ON THE GO อย่างเดอะนิวยอร์กเกอร์ ก็ได้

อย่าลืม คลิกและแชร์ matichonweekly.com