ขอแสดงความนับถือ : ฉบับประจำวันที่ 9-15 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2195

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 9-15 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2195

ขอแสดงความนับถือ

 

แม้จะมีการกล่าวถึงภาวะ “ใหม่” ของรักษาราชการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กันมากตอนนี้

โดยเฉพาะภาวะปึ๋ง-ปั๋ง อันเนื่องจากใจบันดาลแรง

ทำให้พี่ป้อมเปลี่ยนไปอย่างที่เห็นๆ กัน

กระนั้น หลายคนตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า สิ่งใหม่ที่ว่า

นำไปสู่ “การเมืองใหม่” หรือไม่

หรือ แท้จริงก็แค่ใหม่ในเก่าเท่านั้น

ชวนให้เกิดคำถามโตๆ ขึ้นมาทันที

ว่าแล้ว เรามาพูดถึงเรื่องใหม่จริงๆ กันดีกว่า

 

คอลัมน์ Cool Tech ของจิตต์สุภา ฉิน ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

หยิบเอาภาพภาพหนึ่งมานำเสนอ

เป็นภาพโรงโอเปร่าสถาปัตยกรรมบาโรกที่อยู่แห่งใดแห่งหนึ่งในห้วงอวกาศ

ผู้คนในภาพต่างจับจ้องไปที่ช่องว่างวงกลมขนาดใหญ่ที่เผยให้เห็นทิวทัศน์ภายนอก

แสงสว่างอันเจิดจ้าที่ส่องเข้ามาทำให้ส่วนอื่นของภาพย้อนแสงและมีเงาตกกระทบที่สวยงาม

เสน่ห์ของภาพนี้ก็คือการที่อยู่เหนือจินตนาการและคำบรรยายที่จะสรรหามาอธิบาย

รายละเอียดภาพพร่าเลือนและเหมือนจะหายไปเฉยๆ แทบจะไม่มีวัตถุชิ้นไหนในภาพเลยที่สามารถเห็นได้อย่างมั่นใจว่าสิ่งนี้คืออะไร

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศิลปะภายใต้หมวดหมู่ ‘ศิลปะดิจิทัล’

 

Jason Allen คือเจ้าของผลงานนี้

กรณีนี้ คงจะไม่เป็นประเด็น หาก Allen เป็นคนตวัดฝีแปรงสร้างสรรค์ภาพนี้ขึ้นมาเอง

แต่ภาพนี้ไม่ได้มาจากปลายนิ้วของ Allen ที่จับแปรงวาด

แต่มาจากปลายนิ้วที่พิมพ์คำเพียงไม่กี่คำลงบนคีย์บอร์ดและให้โปรแกรมทำหน้าที่ในการวาดภาพทั้งหมดแทน

มันสามารถทำได้ดีจนคนที่ไม่รู้มาก่อน ไม่มีทางเดาได้เลยว่านี่ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์

เมื่อภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวดศิลปะ ถูกเปิดเผยว่าเป็นภาพจาก AI

กระแสความไม่พอใจถาโถมเข้าหา Allen ทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาจิตรกรนักวาดภาพที่กล่าวหาถึงขนาดว่าโกงการประกวด

บางคนระบุว่าเขาไม่ควรเรียกตัวเองเป็นศิลปินถ้าหากจะใช้คอมพิวเตอร์สร้างงานให้แบบนี้

แต่อีกด้านก็ออกมาปกป้องว่าการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยวาดภาพก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรจากการใช้โปรแกรมอย่าง Photoshop หรือเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ มาช่วยวาด

และไม่ว่าจะอย่างไรงานศิลปะที่ได้รับรางวัลชิ้นนี้ก็เกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

Allen ป้อนข้อมูลเข้าไป AI จึงสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาในรูปแบบนี้ได้

กรณีนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า สุดท้ายจะออกมาอย่างไร

แต่ก็คงเป็นประเด็น “ใหม่” ที่ถกเถียงอันร้อนแรงต่อไปแน่นอน

ยิ่ง Allen ประกาศกร้าวท้าทายว่า ศิลปะตายแล้ว มนุษย์สิ้นท่าแล้ว! AI ชนะแล้ว!

ยิ่งเดือด

นอกจากเรื่องใหม่ข้างต้นแล้ว

จักรกฤษณ์ สิริริน ยังนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้เช่นกัน

เป็นโรคใหม่ ที่เรียกว่า TikTok Brain ซึ่งเกิดในเด็ก Gen Alpha (เด็กที่อายุ 12 ปีลงมา)

อย่างที่ทราบ Video Clip ความยาวไม่เกิน 3 นาที TikTok กำลังฮิต

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก Gen Alpha ที่ทำให้ Brain หรือ “สมอง” ของเด็กรุ่นนี้คุ้นชินกับอะไร “สั้นๆ” แบบ “ไม่เกิน 3 นาที”

สภาวะดังกล่าว ทำให้ศาสตราจารย์ ดร. James Williams นักวิชาการด้านปรัชญาและจริยศาสตร์แห่ง University of Oxford บอกว่า TikTok Brain เสมือนการปล่อยเด็กๆ เข้าไปในร้านขนม และอนุญาตให้กินของหวานในร้านเท่าไหร่ก็ได้

ทำให้เด็กๆ คุ้นเคยกับ TikTok Dopamine หรือ “สารความสุข 3 นาที”

ซึ่งจะทำให้พวกเขาจะไม่ชอบทำอะไรที่ใช้เวลานานกว่า 3 นาทีอีกเลย

“ไม่ว่าจะทำการบ้าน และเรียนหนังสือ หรือจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่นานกว่า 3 นาที เช่น อ่านหนังสือ เป็นต้น สิ่งนี้เรียกว่าสมาธิสั้นนั่นเอง”

ไม่รู้ว่าโรคใหม่นี้จะสร้างปัญหาขนาดไหน

แต่ “สมาธิสั้นในยุค Digital” คือ เรื่องใหม่ ที่สมควรเรียนรู้

หวังว่าคนไทยทั้งหลายคงเหลือสมาธิมาสนใจเรื่องเหล่านี้บ้าง

มิใช่จมดิ่งเฉพาะใหม่ในเก่า กรณีลุงป้อม

และอยู่ในเรื่องเก่า-เก่า ยาว-ยาว อย่างกรณี 8 ปี ที่กระแสว่าลุงตู่จะได้บวกเพิ่มเป็น 10 ปี กำลังมาแรง ไปเสียหมด

 

อนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมกับ TikTok

ไม่ใช่ TikTok เท่านั้นที่มี Platform “Video 3 นาที”

Reels ของ Facebook และ Shorts ของ YouTube

ต่างก็มีส่วนร่วมในการให้กำเนิด TikTok Brain ด้วยกันทั้งสิ้น

ทราบแล้วเปลี่ยน •