อสังหาฯ หลังโควิดปรับโมเดลผลิต

วิกฤตโควิดที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตใหญ่อีกครั้งหนึ่งของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ นอกจากการต่อสู้เพื่อฟันฝ่าให้รอดจากวิกฤตแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังจากวิกฤตการณ์จบไปแล้ว คือการปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจ

สำหรับธุรกิจอสังหาฯ การปรับตัวใหญ่ที่เหมือนจะผ่านไปแบบเงียบๆ ไม่ถูกกล่าวถึงนัก คือการปรับโมเดลการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของอสังหาฯ รายใหญ่ผู้นำตลาด ผู้บุกเบิกการนำระบบการก่อสร้างแบบพรีคาสต์มาใช้ในการก่อสร้างบ้าน จากการเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนพรีคาสต์มาเป็นผู้ใช้บริการจากโรงงานโดยไม่เป็นเจ้าของโรงงานเองโดยตรงของพฤกษา

โดยเมื่อเดือนมกราคมต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร บมจ.พฤกษาได้มีมติอนุมัติปรับโครงสร้างองค์กรและจัดตั้งบริษัทใหม่ “อินโน พรีคาสต์” และโอนทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ต่างๆ ของโรงงานผลิตพรีคาสต์ซึ่งเดิมดำเนินงานโดย บมจ.พฤกษา มาเป็นของบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้น

ต่อมาคณะกรรมการบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง หรือ PS มีมติอนุมัตินำหุ้นสามัญของบริษัทอินโน พรีคาสท์ ในสัดส่วน 51% ไปใช้ชำระมูลค่าหุ้น ให้แก่บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL โดย GEL จะออกหุ้นใหม่และจัดสรรให้แก่พฤกษา โฮลดิ้ง จะทำให้พฤกษาถือหุ้นใน GEL 18.26% และถือหุ้น 49% ในอินโนพรีคาสท์

ผลลัพธ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับคือ GEL ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่หลากหลายอยู่แล้ว จะกลายเป็นผู้ที่มีกำลังการผลิตพรีคาสต์สูงสุดอันดับหนึ่งทันที พร้อมกับโรงงานผลิตที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและได้ยอดคำสั่งซื้อจากพฤกษา

ส่วนทาง PS คาดว่ากำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง ในปี 2566 จะเติบโตจากการรับรู้กำไรทางบัญชี (Accounting Gain) ประมาณ 700 ล้านบาท และจะมีรายได้ปันผลจากการเข้าถือหุ้นใน GEL

 

พฤกษาเป็นบริษัทอสังหาฯ รายแรกที่บุกเบิกนำเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบพรีคาสต์มาใช้ในการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง และด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างดังกล่าวได้ผลักดันให้พฤกษาก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทอสังหาฯ แถวหน้าที่มียอดขายสูงสุดติดต่อกันนับสิบปี ยังทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบจากเดิมที่ใช้เวลาเฉลี่ย 8 เดือน เหลือเพียง 3-4 เดือน ซึ่งทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ได้รับเงินจากการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนดำเนินการลดลง

แต่วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นติดต่อกัน 2 ปี มีผลต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยตลาดกลางและล่างซึ่งเป็นตลาดหลักของพฤกษา

ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงผู้จองซื้อที่อยู่อาศัยกู้สถาบันการเงินไม่ผ่าน ทำให้กำลังซื้ออ่อนตัวลง ตลอดจนสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตลาดอีกหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงไป

โรงงานพรีคาสต์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงก็กลายเป็นภาระที่ต้องปรับตัวดังกล่าว

วิกฤตการณ์ใหญ่แต่ละครั้งสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ได้มอบบทเรียนให้เรียนรู้สืบทอดกันต่อไปเช่นกัน

วิกฤตปี 2540 เป็นวิกฤตทางการเงิน ธุรกิจอสังหาฯ กู้หนี้มาก อัตราส่วนหนี้ต่อทุนสูง กู้หนี้เป็นเงินตราต่างประเทศแต่มีรายได้เป็นบาท หลังจากวิกฤติ 2540 เป็นต้นมา ธุรกิจอสังหาฯ ควบคุมอัตราหนี้ต่อทุนไว้ต่ำจนทุกวันนี้

วิกฤตโควิด 2563-2564 กำลังซื้อหดตัวรวดเร็ว ตลาดผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้เกิดการปรับตัวในเชิงโครงสร้างองค์กร การปรับตัวด้านกระบวนการผลิตและซัพพลายเชน เพื่อให้คล่องตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และมีความยืดหยุ่น •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.