ดีลของบางจาก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หากว่าด้วยมุมมองกว้างอ้างอิงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดีลของบางจากฯ คงไม่ใช่เรื่องใหญ่

กรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (11 มกราคม 2566) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อตลาดหลักทรัพย์ BCP หรือเรียกสั้นๆ ทั่วไปว่า “บางจาก”) ได้ลงนามในสัญญาชื้อหุ้นของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อ ESSO) จากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 65.99% – ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. เป็นดีลการเข้าซื้อกิจการมูลค่าราว 55,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง คือโรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง

ตามปกติผู้ซื้อ (โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหุ้น) จะมีถ้อยแถลงอันหนักแน่นสนับสนุน ครั้งนี้เป็นเช่นนั้น

“…ก่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัท โดยจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง สามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น จัดหาน้ำมันดิบได้หลากหลายขึ้น และได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการกลั่นที่เสริมกันของโรงกลั่นทั้งสอง และการให้บริการด้านการตลาดที่ครอบคลุมและนำเสนอบริการให้กับลูกค้าได้ยิ่งขึ้นผ่านสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ…” (อ้างจากหัวข้อข่าว “บางจากฯ ประกาศซื้อหุ้นและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของเอสโซ่ประเทศไทย” 12 มกราคม 2566)

ถือเป็นตรรกะควรรับฟัง ในเชิงธุรกิจในมิติเกี่ยวข้องกับบางจากฯ โดยตรง

ถือว่าเป็นดีลที่มีผลเชิงบวกทีเดียว โดยเฉพาะในระยะใกล้

ว่าไปแล้วนักลงทุนในตลาดหุ้นก็ตอบสนองอย่างคึกคักเช่นนั้น

 

ว่าด้วยโครงสร้างทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เชื่อว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ภาพรวมกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งประเทศคงเดิม เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศมีจำนวนเท่าๆ เดิม หากจะขยายบ้างคงไปตามภาวะที่ว่าๆ กัน

ประเด็นสำคัญที่ว่า ผู้เล่นที่ลดจำนวนลง เชื่อว่าไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่นกัน เป็นมิติที่แตกต่างจากกรณีธุรกิจค้าปลีกทั่วไป และธุรกิจสื่อสารไร้สาย เนื่องด้วยแบบแผนธุรกิจเฉพาะของบางจากฯ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ในห่วงโซ่เฉพาะโรงกลั่น-ค้าปลีกน้ำมันนั้น ต้นทางต้นน้ำมี “ขาใหญ่” ระดับโลก เป็นผู้กำกับ โดยเฉพาะการควบคุมวงห่วงโซ่สำคัญตั้งแต่สำรวจและขุดเจาะ กับมีบทบาทเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันดิบ

ที่ผู้บริหารบางจากฯ กล่าวว่า “การลงทุนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจากฯ และประเทศไทย” ยังไม่ค่อยแน่ใจจะเป็นเช่นนั้นนัก

สำหรับ “ความมั่นคงทางพลังงาน” ในมิติทางธุรกิจของบางจากฯ เอง คงเป็นจริงระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อว่ายังต้องทำงานหนักอีกระยะกับการบริหารองค์กรซึ่งใหญ่ขึ้นเท่าตัว

มีความเป็นไปได้ว่า จะมีปรับแผนและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขยับไปสู่ธุรกิจในห่วงโซ่ต้นน้ำมากขึ้น ถือเป็นเส้นทางยาวพอสมควร ทั้งทุ่มทุนและใช้เวลามากทีเดียว

ยังเป็นที่สงสัยว่า จะเป็นทิศทางที่ยั่งยืนหรือไม่ เมื่อกระแสและแนวโน้มพลังงานฟอสซิลกำลังบลดบทบาท ขณะพลังงานสะอาดจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ อาจจะเป็นไปเร็วกว่า 35-40 ปี อย่างที่ผู้บริหารบางจากฯ คาดและเชื่อกัน ก็เป็นไปได้

 

ส่วนความคิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” ถ้าจะว่ากันในสถานการณ์และบริบทปัจจุบัน ถือได้ว่าไม่น่าจะใช่

หากจะว่ากันอย่างนั้น คงต้องย้อนกลับไปในยุคสงครามเวียดนาม เป็นเหตุปัจจัยในการก่อตั้ง ปตท. ผมเองเคยเสนอไว้นานพอสมควร “ปี 2521 (29 ธันวาคม) จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์อันยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี …ภายใต้โครงสร้างถูกควบคุมโดยบริษัทนำมันต่างชาติ” อันเป็นผลพวงต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ยุคอาณานิคม อย่างที่มีประวัติศาสตร์อ้างไว้ “Shell เริ่มเข้ามามีบทบาทในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่เมื่อครั้งเรือเอส เอส มิวเร็กซ์…บรรทุกน้ำมันก๊าดเข้ามาจอดเทียบท่าที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2435”

และกรณี ESSO ที่ว่า “…บริษัทสแตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์กได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2437 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5”

กับอีกบางตอน ได้สรุปปรากฏการณ์ช่วงก่อตั้ง ปตท.ไว้ “…เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับกระแสในภูมิภาคกับการก่อตั้ง ‘กิจการน้ำมันแห่งชาติ’ เกิดขึ้นเพื่อต่อรองกับบริษัทต่างชาติ…” อินโดนีเซียเปิดฉากก่อนใครในย่านนี้ ก่อตั้ง Pertamina ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในช่วงปี 2511-1514 ตามมาด้วยมาเลเซีย ก่อตั้ง Petronas ในปี 2517

ในภาพใหญ่เวลานั้น โครงสร้างพลังงานไทยปรับโฉมไปพอสมควร ขณะ ปตท.กระชับบทบาทนำอย่างแข็งขัน ธุรกิจต่างชาติขยายฐานสู่ต้นน้ำมากขึ้น Shell ร่วมลงทุนในกิจการโรงกลั่นน้ำมันในปี 2511 เริ่มสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ปี 2522 ขณะที่ ESSO เริ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในปี 2514

ว่าด้วยบทบาท “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” ควรพาดพิงถึงยุคก่อตั้งบางจากฯ ด้วยเช่นกัน

 

บางจากฯ เอง ก่อตั้งขึ้นถือเป็นช่วงเดียวกับยุคก่อตั้ง ปตท. ที่สำคัญอยู่ภายใต้อิทธิพลและบทบาทเชื่อมโยงกับ ปตท.นานพอควร เปิดฉากอย่างจริงจังในปี 2527 เมื่อเข้าครอบครองกิจการโรงกลั่นของเอกชน (ซัมมิตอินดัสเตรียล) ที่มีปัญหา ด้วยมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ช่วงต้นๆ 3 ราย คือกระทรวงการคลัง ปตท. และธนาคารกรุงไทย

บางจากฯ เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในปี 2534 ตามหลัง ปตท.ราวทศวรรษ แต่มีความเคลื่อนไหวบางอย่างล่วงหน้า ปตท.หลายปี โดยเฉพาะการเข้าตลาดหุ้น (2537) และเริ่มแผนการแปรรูปกิจการเป็นเอกชน (2538)

อย่างไรก็ดี กว่าจะพ้นอิทธิพล ปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งก็ล่วงมาถึงปี 2558

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ว่าด้วยเปลี่ยนมือจากบริษัทต่างชาติ มาเป็นบริษัทไทยในยุคเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว ไม่อาจใช้ความคิดชุดเดียวกันนั้น อรรถาธิบายในยุคปัจจุบันได้ ไม่ว่าธุรกิจค้าปลีกอย่างที่เห็นและเป็นมา หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับการค้าปลีกน้ำมัน ด้วยปัจจุบันกลไกโลกาภิวัตน์ ความรู้และโนว์ฮาวทางธุรกิจพื้นฐานในระดับโลก ทัดเทียมกันมากขึ้น แบบแผนการค้าเป็นระบบสากลและเปิดกว้างขึ้น เช่นเดียวกับกระบวนการบริหารปรับเปลี่ยน Portfolio ของธุรกิจระดับโลกเกิดขึ้นอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้มิได้มองข้ามศักยภาพของบางจากฯ กับความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ว่าไปแล้ว นึกไม่ออกว่า หาก ESSO จะขายกิจการในเมืองไทย จะมีใครมารับช่วงได้อย่างดีเท่าบางจากฯ

ครั้น ปตท.จะลงมาเวทีนี้ คงมีแรงต้านมากทีเดียว คงจำเหตุการณ์ในปี 2553 กันได้ เมื่อ ปตท.วางแผนจะซื้อเครือข่ายค้าปลีกใหญ่อย่าง Carrefour

หากจะว่าด้วยบทบาทบางจากฯ ในฐานะพลังขับเคลื่อนหนึ่ง ให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยก้าวไปข้างหน้า คงจะมีความกังวลอยู่เล็กน้อย

อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น เชื่อว่าบางจากฯ อาจปรับแผนให้ขยับไปสู่ธุรกิจในห่วงโซ่ต้นน้ำมากขึ้น (ทั้งสำรวจและผลิต จนถึงปิโตรเคมี) เป็นมิติการจัดสรรทรัพยากร อาจโฟกัส ทุ่มเท ทั้งเวลา ผู้คนและเงินลงทุนอย่างมาก เป็นไปตามเส้นทางย้อนรอยโมเดล ปตท.มากไปบ้าง

คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งเป็นอนาคตที่บางจากฯ บุกเบิกไว้เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com