นักเศรษฐศาสตร์ แนะล็อกดาวน์ต้องตรวจโรคพร้อมกันด้วย ชี้วัคซีนไม่มา “ความผิดพลาดครั้งใหญ่”

นักเศรษฐศาสตร์ดัง แนะ สิ่งที่ต้องทำพร้อมล็อกดาวน์คือตรวจโรค กันคนติดเชื้อกับคนที่มีความเสี่ยง ชี้ วัคซีนไม่มา เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ สร้างต้นทุนมหาศาล 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แน่นอนว่าถ้ามีการล็อกดาวน์ ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามากขึ้น แต่ทุกวันนี้คนก็แทบไม่จับจ่ายกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันตอนนี้ต้องมาพิจารณากันว่า เมื่อระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ว่าในภาพรวมอาจจะมีบางจังหวัดที่รองรับได้ แต่การจะส่งผู้ป่วยไปรักษาก็คงลำบาก อย่างเช่น จะส่งผู้ป่วยจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ ก็คงทำไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นภาวะเช่นนี้ระบบเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องช่วย อย่างไรก็ดี หากทำเพียงแค่สัปดาห์เดียวก็อาจจะไม่ครบวัฏจักรของโรค ซึ่งอาจจะคุมการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นไม่ได้

“ถ้าจะล็อกดาวน์ก็ต้องเป็นมาตรการเชิงพื้นที่ และเชิงความเสี่ยง โดยต้องไม่ใช่เคอร์ฟิวด้วย แต่อาจจะต้องงดกิจกรรมที่เอาคนมารวมกันมาก ๆ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้มาก หรือถ้ากิจกรรมไหนจำเป็นต้องทำแล้วสามารถมีมาตรการลดความเสี่ยงได้ เช่น ร้านอาหาร ไม่ให้นั่งกิน ก็ให้ซื้อกลับบ้านได้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากจนเกินไป นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือการตรวจโรค เพื่อกันคนที่ติดเชื้อกับคนที่มีความเสี่ยงออกจากระบบไป” ดร.พิพัฒน์กล่าว

โดยที่ผ่านมา การบอกว่าโรงพยาบาลที่ตรวจเจอให้รับรักษาไปด้วย ถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะเป็นการโยนภาระให้โรงพยาบาลที่ตรวจ ทำให้หลายโรงพยาบาลไม่ยอมรับตรวจ จึงทำให้การตรวจลดลงไป ทั้ง ๆ ที่การตรวจมีความสำคัญมาก

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมนโยบายไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งทำให้เกิดการส่งสัญญาณที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน

ทั้งหมดนี้มองว่า ประเด็นอยู่ที่ 1.เราต้องคุมสถานการณ์ในประเทศให้ได้ คือ การตรวจ แยกคนป่วยออกจากระบบ และวัคซีนที่สำคัญที่สุด เราบอกว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสใน 1 ปี ก็ต้องวันละ 4.7 แสนโดส แต่วันนี้ฉีดได้แค่กว่า 1 แสนโดสต่อวัน แล้ววัคซีนก็ไม่มาสักที ผมว่านี่เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสร้างต้นทุนมหาศาล” ดร.พิพัฒน์กล่าว