ศัลยา ประชาชาติ : แล้งเร็วลามหนัก น้ำเค็มทะลัก-น้ำประปากร่อย พื้นที่เกษตร-สวนผลไม้ไม่รอด

เริ่มส่งสัญญาณวิกฤตรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา สำหรับ “ภัยแล้ง” ปี 2562/2563 ที่มาเร็วและมีแนวโน้มยาวนานกว่าปกติ

สาเหตุหลักมาจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง ปริมาณน้ำลดน้อยลงกว่าทุกปี หลายพื้นที่ขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ บางแห่งมีปริมาณน้ำแค่ก้นอ่าง หรือ Dead Storage สำหรับรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือมาล่าช้า นอกจากพื้นที่ทำการเกษตรจะได้รับผลกระทบแล้ว การขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคจะเกิดขึ้นในวงกว้าง ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว

ที่ตอกย้ำให้เห็นถึง “สัญญาณอันตราย” คือระดับน้ำในเขื่อนหลักแต่ละภูมิภาคที่ลดฮวบลงกว่าทุกปี โดยเฉพาะในภาคอีสาน หลายอำเภอในจังหวัดขอนแก่น เกิดภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 10 ปี

โดยรายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนต่างๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ระบุว่าเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 19% ของความจุเต็มอ่าง หรือ 474 ล้าน ลบ.เมตร

 

ขณะที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทานชี้ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารา แม่มอก จุฬาภรณ์ ลำพระเพลิง ลำแซะ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว คลองสียัด และหนองปลาไหล

สำหรับภาคเหนือและภาคใต้แม้ภัยแล้งจะรุนแรงไม่เท่าภาคอีสาน ภาคกลาง แต่หลายพื้นที่กำลังเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ต้องทุ่มเงินซื้อน้ำจากขุมเหมืองต่างๆ มาผลิตน้ำประปาเพื่อประคับประคองธุรกิจของตัวเอง

ส่วนภาคตะวันออกอย่างในจังหวัดจันทบุรีและตราด ช่วงนี้แหล่งน้ำหลายแห่งอยู่ในสภาพแห้งขอด เพราะฝนทิ้งช่วงยาว ชาวสวนหวั่นเกรงว่าผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ เจอแล้งจัดจะเกิดความเสียหาย หลายพื้นที่ต้องดิ้นรนหาซื้อน้ำรดสวนผลไม้ ป้องกันไม่ให้ผลผลิตได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหาย

ยอมกัดฟันจ่ายค่าน้ำที่พุ่งขึ้นสูงถึงคันรถละ 2,000 บาท (ความจุขนาด 12,000-15,000 ลิตร) โดยไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพราะเกรงว่าจะไม่ทันการณ์

 

เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลาง ก่อนหน้านี้แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งขอความร่วมมือกับประชาชนลดการปลูกข้าวนาปรัง ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดการใช้น้ำทำการเกษตร พร้อมสั่งการให้กรมชลประทานควบคุมดูแลการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด ให้มีน้ำเหลือใช้ตลอดหน้าแล้ง ซึ่งจะต้องพยายามประคับประคองไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า 22 จังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยามีการปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.25 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 1.59 ล้านไร่ แม้จะอยู่ในเขตชลประทาน แต่ไม่ได้อยู่ในแผนเพาะปลูกหน้าแล้งปีนี้

อีก 0.66 ล้านไร่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล เริ่มมีปัญหาน้ำประปามีรสกร่อย ผลพวงจากน้ำทะเลหนุนสูง กระทบแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน รายงานว่า วันที่ 15 มกราคม 2563 สถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 0.19 กรัม/ลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ สถานีท่าน้ำนนท์ 3.16 กรัม/ลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สถานีกรมชลประทานสามเสน 3.80 กรัม/ลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

(ค่าความเค็มน้ำสำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร สำหรับผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร)

 

นอกเหนือจากนี้พื้นที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคเอกชนต่างวิตกกังวลว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก

อย่างจังหวัดระยอง ภาคอุตสาหกรรมได้จัดการประชุมเพื่อรับมือภัยแล้ง และยื่นข้อเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งป้องกันแก้ไขภัยแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำ

รายงานสถานการณ์น้ำ จ.ระยอง ณ วันที่ 13 มกราคม 2563 มีปริมาณน้ำใช้การทั้งหมดเพียง 35.3% แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาณน้ำใช้การได้ 38.5% อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 21.3% อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 16.3% อ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 32.1% และอ่างเก็บน้ำคลองระโอก มีปริมาณน้ำใช้การได้ 68.5%

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาแผนแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ 3 ระดับ ในรูปแบบ One Stop Service ทำงานร่วมกันกับ 30 หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ

โดยปรับแผนเพื่อป้องกันขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคช่วง 1-2 เดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะบ่อบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ทำธนาคารน้ำใต้ดิน

รวมงบประมาณที่จะใช้แก้ปัญหาในปี 2563 มูลค่ากว่า 9,465 ล้านบาท รวม 1,434 โครงการ ครอบคลุม 57 จังหวัด

 

ถึงกระนั้น โครงการต่างๆ ที่ภาครัฐได้วางไว้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ อย่างโครงการภายใต้การดำเนินงานของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือสร้างหอควบคุมประตูระบายน้ำต่างๆ กว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ ครม. การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ประชาชน เกษตรกร ตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งระบบได้รับผลกระทบ

แทนที่จะทุ่มงบประมาณหลักร้อยล้านพันล้านโดยใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ทุกปีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเป็นโครงสร้างพื้นฐานแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งเบ็ดเสร็จในระยะยาว

แม้เป็นงานใหญ่แต่เป็นภารกิจท้าทาย ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเลือกและรีบตัดสินใจ

คนไทยจะได้หมดเคราะห์กรรมไม่เดือดร้อนซ้ำซาก