‘ศิริกัญญา’ ชี้ ’อุ๊งอิ๊ง‘ ตำหนิ แบงก์ชาติ ไม่กระเพื่อมเพราพไร้ตำแหน่งทางศก. มอง การให้เหตุผลสั้นเกินไปกระทบวงกว้าง ต่างชาติหวั่น

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ’อุ๊งอิ๊ง‘ ตำหนิ แบงก์ชาติ ไม่มีแรงกระเพื่อม เหตุไร้ตำแหน่งทางศก. มอง การให้เหตุผลสั้นเกินไปกระทบวงกว้าง ทำต่างชาติหวั่น แนะ หากจะกดดัน ให้เสนอทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อ-กำชับแทนพูดต่อสาธารณะ

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวแถลงบนเวที 10 เดือน ที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 พาดพิงทำนองตำหนิธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ เป็นการบีบการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หรือไม่ ว่า การพูดในครั้งนี้ คงไม่ได้สร้างความกดดันมากไปกว่าที่รัฐบาลเคยทำมาอยู่แล้ว เพราะแรงกดดันจากรัฐบาลที่มีไปถึงแบงก์ชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดตอนที่ น.ส.แพทองธารพูด ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างก็พุ่งเป้าไปที่แบงก์ชาติ ที่ดำเนินนโยบายการเงินไม่สอดคล้องกับรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งแรงกดดันก็คงไม่ได้ต่างจากเดิม อีกทั้งแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลมีน้ำหนักมากกว่า น.ส.แพทองธาร ที่ขณะนี้ยังไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่มีนัยยะมากๆ ในฐานะหัวหน้าพรรค คือการพูดถึงกฎหมายที่ให้อิสระกับแบงก์ชาติ และยังระบุอีกว่ากฎหมายที่ให้อิสระมากเกินไป เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายของรัฐ ทางฝั่งนิติบัญญัติก็ต้องเก็งข้อสอบแล้วว่า ขณะนี้จะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จากทาง สส. พรรค พท. หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะครั้งล่าสุดที่มีการแก้ไขคือปี 2550 ที่แก้ไขให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระมากขึ้นด้วยซ้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าจับตา ที่ไม่ใช่แค่จากประชาชน แต่รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ที่จะมองเข้ามาว่า แบงก์ชาติจะคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่ วิธีการที่จะกดดันแบงก์ชาตินั้นมีหลายวิธี ที่ไม่ต้องสื่อสารต่อสาธารณะก็สามารถทำได้ หรือถ้าต้องการให้เป็นทางการที่สุด คือการให้มีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ ให้มีกรอบที่แคบลง และพยายามกำชับให้แบงก์ชาติปฏิบัติตามกรอบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่การออกมาพูดเพียงแค่สั้นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสปีช ก็ค่อนข้างจะส่งผลกระทบต่อวงกว้าง อย่างที่เราเห็นว่า สื่อต่างชาติเริ่มนำเสนอข่าวเรื่องนี้แล้ว

เมื่อถามว่า การพาดพิงตำหนิออกสื่อ มองว่ามีจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆ การทำงานของแบงก์ชาติเป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ทั้งในฐานะประชาชนและทางฝั่งการเมือง แต่การให้เหตุผลต่อแบงก์ชาติที่สั้นเกินไป คนก็อาจจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ ยกตัวอย่าง การโบ้ยความผิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ดำเนินได้ไม่ค่อยดีเพราะแบงก์ชาติมีอิสระมากเกินไป การให้ข้อมูลแบบนี้ก็อาจจะมีปัญหาได้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของแบงก์ชาติหรือธนาคารกลางทั่วโลก กับเป้าหมายของรัฐบาล ไม่มีวันเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลก็มุ่งหวังให้เศรษฐกิจในระยะสั้น เติบโตไปในทิศทางที่ดีและเร็ว แต่สำหรับแบงก์ชาติเขามองในระยะยาวกว่านั้น ดังนั้นแบงก์ชาติไม่ได้สนใจว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตเท่าไหร่อย่างไร แต่จะให้ความสำคัญกับความมั่นคง และเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะกลาง เป็นต้น ดังนั้น คุณจะทำให้นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลางก็มีด้วยเหตุผลว่า ป้องกันไม่ให้แบงก์ชาติถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นของรัฐบาล ดังนั้นจะมองว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุล ก็เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากคุณต้องการกระตุ้นในระยะสั้น คุณต้องใช้นโยบายการคลังอยู่แล้ว