E-DUANG : สถานะ น้ำคำ พรรคการเมือง ยืนยัน เกียรติภูมิ นักการเมือง

ทั้งๆที่ท่าทีของรัฐบาล ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต่อคำถามที่ว่าจะปรับครม.หรือไม่ จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมหรือไม่

จะมีความเด่นชัดยิ่งว่าไม่มีทั้งการปรับครม.และทั้งการดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

แต่อารมณ์ในทางสังคมกลับไม่ยอมคล้อยตามโดยง่าย

เป็นความจริงว่าจำนวน สส.ที่มีอยู่ในมือของรัฐบาลเป็นปริมาณที่มากและแทบไม่มีความจำเป็นในการดึงพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาอีก

กระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า เหตุผลของพรรคเพื่อไทยกับเหตุผลของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจมาจากพื้นฐานในทางความคิดที่แตกต่างกัน

นั่นก็คือพรรคเพื่อไทยอาจต้องการแตะพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเพื่อเป็นเครื่องต่อรอง นั่นก็คือพรรคร่วมรัฐบาลย่อมไม่ต้อง การให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นตัวหารร่วม

ยิ่งกว่านั้นท่าทีอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความเด่นชัดยิ่งว่าต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

ทุก”ความคิด”ที่มีอยู่จึงล้วนมีพื้นฐานมาจาก”ความจริง”

 

ต้องยอมรับว่าการร่วมเป็นรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เป็นความเหลือเชื่ออย่างยิ่งในทางการเมือง

แม้สังคมจะรู้สึกหวาดระแวงในท่าทีและการเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐว่าแปลกและแปร่ง

ไม่ว่ามอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่ามอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

แต่มิได้รู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะคิดเช่นนั้น

ขณะเดียวกัน แม้จะมองเห็นความสัมพันธ์เดิมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อพรรคไทยรักไทย และของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย

แต่บรรดา”หัวแถว”ของพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันอย่างมั่นคงถึงขนาดให้ดูหน้าว่าหน้าอย่างนี้หรือจะร่วมกับ”3 ป.”

แต่แล้ววันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทุกคนก็ได้เห็นชัดเจน

 

ความชัดเจนจากการร่วมมือระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรครวมไทย สร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ นั่นแหละทำให้หวาดระแวงหวาดระแวงและไม่เชื่อใน”ถ้อยคำ”ของแต่ละพรรคการเมือง

สายตาที่มองพรรคเพื่อไทยจึงไม่ต่างไปจากที่มองพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ต่างไปจากที่มองพรรคพลังประชารัฐ และไม่ต่าง ไปจากที่มองพรรคประชาธิปัตย์

สายตาเช่นนี้กระเทือนต่อ”ภาพลักษณ์”ในทางการเมือง