E-DUANG : สมรภูมิ สภาล่ม กับคำถามใครยึดพื้นที่ ใครยึด ชัยชนะ

ความได้เปรียบในพื้นที่”ออนไลน์” กำลังเป็นบทพิสูจน์ชัยชนะในสงคราม”การเมือง”เด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ จากการประลองกำลังภายใต้ยุทธการ”สภาล่ม”

หากเริ่มจากที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นั่งทำหน้าที่ในฐานะประธานในที่ประชุมเมื่อเวลา 15.45 น. โดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร อภิปรายในญัตติว่าด้วยราคากุ้ง

ตามมาด้วยการลุกขึ้นของ นายปิยะรัฐ จงเทพ นำเข้าสู่หน่วยเพื่อเสนอญัตติให้มีการนับองค์ประชุม อันก่อให้เกิด”ปฏิริยา”มีความพยามสกัดขัดขวางเต็มกำลัง

กระทั่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มิอาจสกัดขัดขวางญัตติที่เสนอโดย นายปิยะณัฐ จงเทพ ได้จำเป็นต้องมีการกดออกเพื่อให้มีการแสดงตน

เมื่อปรากฏว่ามีผู้แสดงตนเพียง 96 คน ก็จำเป็นต้องสั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 16.10 น.จาก 15.45-16.10 น.คือเวลาแห่งการต่อกรกันในที่ประชุมรัฐ

สภาและอาจตามมาด้วยการเปิดแถลงข่าวของพรรครัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย กับการชี้แจงของพรรคก้าวไกล

เวลาหลังจากนั้นก็อยู่ในความยึดครองของสมรภูมิอนนไลน์

 

ไม้เด็ดอย่างสำคัญอันเกิดขึ้นในพื้นที่”โซเชียล มีเดีย” คือสิ่งที่เรียก ว่า Digital Footprint โดยมี”ตัวละคร”ระดับนำของพรรคเพื่อไทยครบครัน

ไม่ว่าจะมาจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ไม่ว่าจะมาจาก นายภูมิ ธรรม เวชยชัย ไม่ว่าจะมาจาก นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

ยิ่งกระบวนท่าอันมาจาก นส.ธีระรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย เมื่อประสานเข้ากับท่วงทำนองนิ่มนวล ของ นส.จิราพร สินธุไพร ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ

เป็นการโพสต์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 “ถ้ารัฐบาลใส่ใจปัญหาและผลประโยชน์ของประชาชนจริง จะไม่มีวันที่ #สภาล่ม เพราะคุณคือเสียงข้างมากถึงจัดตั้งรัฐบาลได้”

แม้จะเป็นโพสต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กึกก้องยิ่งในเดือนสิงหาคม 2566

 

เมื่อเวลา 18.50 น.ของวันที่ 31 สิงหาคม #สภาล่มอาจอยู่ที่ 24.8k และ#ประชุมสภาอาจอยู่ที่ 118k แต่เมื่อถึงเวลา 23.50 น.ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

#สภาล่ม เป็น 102k ขณะที่#ประชุมสภา 115k

และเมื่อเข้าสู่เวลา 04.09 น.ของวันที่ 1 กันยายน #สภาล่ม อยู่ที่ 116k โดย#ประชุมสภาอยู่ที่ 159K บรรดา Digital FooTprint ก็ยิ่งแพร่กระจาย

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็น”เงาสะท้อน”ในทางความคิดและในทางการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา