E-DUANG : เสียงเตือน จาก ธีรยุทธ์ บุญมี กับปม ก้าวข้าม ความขัดแย้ง

การออกโรงล่าสุดของ นายธีรยุทธ์ บุญมี ด้วยการส่งสัญญาณไปยัง 250 ส.ว.มิได้เป็นการเตือนอย่างธรรมดา หากแต่ยังเป็นการกระตุกอย่างค่อนข้างรุนแรงในเชิงเนื้อหา

นี่เป็นการส่ง”สัญญาณ” จากความจัดเจนในทางการเมือง เป็นการ”เตือน”ในท่วงทำนองแบบ”ผู้อาวุโส”

หากเป็น ส.ว.ที่ขาดความเฉลียวในทางการเมืองอาจมองเห็นว่าเป็นการเตือนที่แทบไม่มีความหมาย แต่สำหรับ ส.ว.ระดับ นายคำนูญ สิทธิสมาน ย่อมอ่านในระหว่างบรรทัดได้ทะลุ

เริ่มตั้งแต่”หากเลือกตั้งแฟรๆ ส.ว.ไม่ควรยุ่ง หากเข้ามายุ่งจะนำไปสู่ปัญหา คาดการณ์ว่าจะเกิดความขัดแย้งลุกลามและปัญหาจะกลายเป็นลูกโซ่”

เหมือนกับว่าความแหลมคมอย่างที่สุดจะอยู่ตรงประโยคว่า

“ซึ่งจะเลวร้ายกว่าการที่คิดจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” เนื่องจากตรงนี้เองคือ”ปัญหาจะกลายเป็นลูกโซ่”

เพราะสังคมรับรู้อยู่แล้วโดยพื้นฐานว่าภารกิจอัน 250 ส.ว.จะเข้าไปแบกรับนั้น หากมิใช่เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ย่อมเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

คำถามอยู่ที่ว่า 2 คนนี้ยังเหมาะสมกับ”สภาพการณ์”หรือไม่

 

สัญญาณหนึ่งซึ่งมาตอกย้ำให้บทสรุปในลักษณะ”เตือน”อันมาจาก นายธีรยุทธ์ บุญมี เริ่มมีความหมายและสามารถกลายเป็นบทบาทได้

ย่อมเป็น”สัญญาณ”อันมาจากการรับมือกับสถานการณ์เมื่อ มีการเผชิญหน้ากับการรุกไล่เร่งเร้าในทางการเมือง

จากกรณีใต้สะพานพระราม 8 คือตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม หากจับจากท่าทีของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ผ่านการปราศรัยบนเวที หากจับจากท่าทีในการตระเตรียมและบริหารจัด การเวทีโดย นายสกลธี ภัททิยกุล ก็พอจะอ่านเกมออก

หาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เคยนำเสนอพิมพ์เขียวใน ทางความคิดเรื่อง”ก้าวข้ามความขัดแย้ง”โดยอิงความสำเร็จจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านคำสั่ง 66/2523 ก็ไม่มีปัญหา

แต่เมื่อศึกษาคำสั่ง 66/2523 อย่างจริงจังก็มองเห็นปม

 

การบริหารจัดการเวทีปราศรัยโดยความร่วมมือกันระหว่าง นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กับ นายสกลธี ภัททิยกุล นั้นเองคือความ ไม่เข้าใจต่อปมแห่งความขัดแย้ง

ไม่เข้าใจลักษณะที่ลุกลาม ไม่เข้าใจสภาวะที่เป็นลูกโซ่

สถานการณ์ใต้สะพานพระราม 8 จึงไม่เพียงแต่เสนอบทจบ ให้กับแผนการ”ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ตรงกันข้าม กลับกลายเป็น การสร้างชนวนใหม่แห่งความขัดแย้ง

กระทั่งกลายเป็น”ประเด็น”ร้อนแรงก่อน”การเลือกตั้ง”