E-DUANG : โลกที่ #พิมรี่พาย สะท้อนก้อง กับ ความเป็นจริง ของเด็กไทย

การฮิตขึ้นมาของ #พิมรี่พายในโลกออนไลน์ เป็นการฮิตที่กำลังส่งผลสะเทือนในทาง”ความคิด”อย่างใหญ่หลวงเป็นลำดับ

ไม่เพียงสะท้อนให้ตระหนักถึงบทบาทของโลก”ออนไลน์”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก 1 ได้ทำให้กระบวนการในแบบ”สัง คมสงเคราะห์”ได้ถูกยกระดับและกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันแหลมคม

ภาพของ “เด็กดอย” อันเคยเป็นปฏิมาแห่งความฝันของหลายคนในมหานครใหญ่ ได้ปรากฏความจริงที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

คำถามถึงคำว่า”พัฒนา”มีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

แม้จะมีความรู้สึกว่ารากฐานความเป็นมาอันปรากฏผ่าน#พิมรี่พาย จะคือส่วนหนึ่งของแนวคิดในแบบ”สังคมสงเคราะห์” กระนั้น ก็สามารถเปิดโปงความเป็นจริงออกมาอย่างล่อนจ้อน

คำถามจึงมิได้ดำรงอยู่กับแนวทาง”สังคมสงเคราะห์”อันฝากรากลึก หากแต่ยังมีถึงกระบวนการ”สร้างภาพ”ในแบบทุนนิยม

นั่นก็คือ 1 ได้แต่”สร้างภาพ” โดยมิได้การ”กระทำ”จริง

 

ตรงนี้แหละที่ในสังคมออนไลน์ได้เริ่มตั้งประเด็นต่อโครงการมากหลายที่เคยมีการป่าวร้องภายใต้วาทกรรมของ”การพัฒนา”ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค”น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ”

เพราะว่าจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2502 กระทั่งถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2564 ก็ยังคงเหมือนเดิม

ขณะที่ในมหานครมากด้วยความทันสมัย ความสะดวกสบายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ระดับเดียวกับนิวยอร์ค ลอนดอน แต่ที่อมก๋อย ห่างจากเชียงใหม่ไม่มากนักกลับไม่มีไฟฟ้าใช้

กรณีของ #พิมรี่พาย จึงกลายเป็นคำถามในทางสังคม คำถามถึงการพัฒนา คำถามถึงการสังคมสงเคราะห์ ทำบุญเอาหน้า คำถามถึงความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่

ขณะที่ในทำเนียบรัฐบาลพร่ำถึงคำว่า”เศรษฐกิจ ดิจิทัล”แต่บนดอยสูง ชาวเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังต้องพึ่งพาตะเกียงและกองไฟ

นี่คือความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน

 

อุบัติแห่ง #พิมรี่พาย สัมพันธ์กับการจัดงานวันเด็กที่พัฒนาต่อเนื่อง มาจากยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภาพของเด็กในทำเนียบรัฐ บาลจึงถูกเปรียบเทียบกับภาพของเด็กบนดอย

จึงไม่แปลกที่ #พิมรี่พายจะได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในโลกออนไลน์

ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ต้องอยู่กับไวรัส โควิด-19