E-DUANG : คำถามถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำถามถึง มือวาง ทางเศรษฐกิจ

การประชุมครม.เศรษฐกิจทุกวันจันทร์มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยมีเคย เกิดขึ้นมาแล้ว

เหตุใดจึงกลายเป็นเรื่องฮือฮา ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างสูง

คำตอบที่ตรงเป้าที่สุด เพราะว่าเป็นยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันมีองค์ประกอบและกระบวนการแตกต่างกับยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มี ดร.เสนาะ อูนากูล นั่งเรียงอยู่เคียงข้างที่บ้านสีเสา ยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มี นายบุญชู โรจนเสถียร นั่งอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

แล้วยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอะไรน่าแคลงใจ

 

ความแคลงใจอยู่ที่ผลงานและความสำเร็จของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงที่นั่งอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ

จากเดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2562

ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจประสบปัญหาอย่างเดียวกันกับที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคย ประสบ

นั่นก็คือ เกิดความขัดแย้งระหว่าง นายบุญชู โรจนเสถียร กับ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในกรณี”เทเล็กซ์น้ำมัน” และที่สุดทีมของ นายบุญชู โรจนเสถียร ก็หลุดทั้งยวง

เหมือนกับกรณีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หลุดทั้งยวงใน เดือนสิงหาคม 2558

แต่ที่แหลมคมมากกว่านั้นก็คือ ภายหลังปรับครม. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถสร้างความประทับในทางเศรษฐกิจได้อย่างทีเรียกว่า”โชติช่วงชัชวาล”

แต่กรณีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ยังส่ายหน้าก่อนการเลือกตั้งมีนาคม 2562

นั่นคือฝันร้ายในทางเศรษฐกิจสำหรับครม.วันนี้

 

จุดเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะจากนักวิชาการ ไม่ว่าจะ จากนักการเมืองก็คือ ในเมื่อล้มเหลวมาตลอด 5 ปีจะสามารถตีตื้นขึ้นได้อย่างไร

ในเมื่อ 1 นายกรัฐมนตรีก็คนเดิม และ 1 ในเมื่อมือเศรษฐกิจก็ยังเป็นคนเดิม

คำถามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องตอบ