E-DUANG : วินาที ท้าทาย สยองขวัญ ภายใต้ สมรภูมิ “เลือกตั้ง”

“การเลือกตั้ง” กำลังจะทะยานไปอยู่ในจุดอันเป็นปัจจัยชี้ขาดหลักในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่จะชี้ขาดชัยชนะ พ่ายแพ้

หากที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ชี้ขาดว่าประชาชนเลือกจะเชื่อใคร พรรคการเมืองใด

สัมผัสได้จากกรณีของ อองซาน ซูจี

สัมผัสได้จากกรณีของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่ประเทศเมียนมา รัฐบาลเผด็จการทหารมีความมั่นใจเป็น อย่างสูงว่าจะสามารถกำชัยเหนือ อองซาน ซูจี แต่ผลกลับออกมา ในทางตรงกันข้าม

ที่ประเทศมาเลเซีย รัฐบาลนาจิปมีความมั่นใจว่าจะกำชัยเหนือ มหาเธร์ โมฮัมหมัด แต่ผลกลับเป็นตรงกันข้าม

 

กล่าวสำหรับประเทศไทย ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าผลการเลือก ตั้งจะออกมาอย่างไร

เป็นชัยชนะของ “พรรคคสช.”

หรือว่าเป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทยกับพันธมิตรในทางการ เมือง

มีแต่”ความเชื่อ” มีแต่การคาดคะเน

เป็นความเชื่อและการคาดคะเนจากพื้นฐานของข้อมูล”เก่า”ตั้งแต่ปี 2544 เป็นความเชื่อและการคาดคะเนจากพื้นฐานของข้อมูล “เก่า”ปี 2557

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งก็เป็นฐานข้อมูลจากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

อาจผิดพลาด คลาดเคลื่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557 อันทรงความหมาย

จากเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562

 

หากเริ่มต้นจากสถานการณ์นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สังคมรับรู้บทบาทของ”คสช.”ในด้านรุก ในด้านเป็นฝ่ายกระทำ โดยมี “การเลือกตั้ง”เป็น”เดิมพัน”

เท่ากับชี้ว่า “การเลือกตั้ง”ที่น่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2562 น่าจะเป็น “คำตอบ” ต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลว

เป็น”ชัยชนะ” หรือ”พ่ายแพ้”