E-DUANG : ​การยึดติด บทเรียน ความจัดเจน ตุลาคม 2516 สู่กรกฎาคม 2563

การชุมนุมของ ฟรียูธ เยาวชนปลดแอก และ สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บนถนนราชดำเนินและบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ก่อให้เกิดความรู้สึก ความคิดเห็นตามมาอย่างหลากหลายน่าศึกษาอย่างเป็นพิเศษ

หากเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยความรู้สึกที่ครอบงำย่อมเป็น”ด้านลบ”

ขณะเดียวกันหากเป็นผู้ที่เห็นด้วยความรู้สึกครอบงำย่อมเป็นใน”ด้านบวก”

กระนั้น ภายใน”ลบ” ภายใน”บวก”ก็มีลักษณะพิเศษ

ลักษณะพิเศษนั้นดำเนินไปในกระบวนท่าที่ละม้ายเหมือนกันโดยอัตโนมัติ นั่นก็คือ นำเอาประสบการณ์และความจัดเจนอันเป็นของตนไปวัดและประเมินบทบาทของคนรุ่นใหม่

บ้างจึงออกมาในท่วงทำนองแบบเยาะหยัน บ้างจึงออกมาในท่วงทำนองห่วงหาอาทร

ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้

 

หากใครติดตามบทบาทของนักวิชาการระดับดุษฎีบัณฑิตท่านหนึ่ง ในรายการวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์ก็จะสัมผัสได้ในความจัดเจน และยึดติด

เป็นการยึดติดจากบทเรียนเดือนตุลาคม 2516 นำเอาสอดสวมกับสิ่งที่น้องๆรุ่นใหม่แสดงออก

เพราะว่าประทับใจบทบาทของนิสิตนักศึกษายุคนั้นว่าได้ลงไปทำงานเชื่อมประสานไม่ว่าจะเป็นขบวนการผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ขบวนการชาวนา

ขณะที่กล่าวสำหรับน้องๆที่อยู่ในฟรียูธ เยาวชนปลดแอก หรือสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกมองว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นเกรียนคีย์บอร์ด

การเปรียบเทียบอย่างนี้มากด้วยสีสันแต่ก็มองข้ามความเป็นจริงสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย

นั่นก็คือ ความเป็นจริงของปี 2516 กับของปี 2563

 

ไม่ว่าการถอดบทเรียนการชุมนุมจะดำเนินไปในกระสวนแบบลบ ไม่ว่าการถอดบทเรียนการชุมนุมจะดำเนินไปในกระสวนแบบบวก

แต่ลักษณะ”ร่วม”ที่สำคัญหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม

นั่นก็คือ ทุกคนมักติดอยู่กับประสบการณ์ของตน บทเรียนของตน จึงเกิดความโน้มเอียงที่จะนำประสบการณ์และบทเรียนของตนเป็นเหมือนแก้วสารพัดหนึ่ง

ในที่สุดก็คือ ต้องการดัดแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงโลกไปตามความปรารถนาของตนกระทั่งมองข้ามความปรารถนาของคนอื่น