E-DUANG : การเมือง หลัง FLASH MOB ฤดูกาลเปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน

ปรากฎการณ์แห่ง FLASH MOB ได้ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงใน ทางการเมือง

ทั้งๆที่เกิดขึ้นเพียง 1 ชั่วโมงแล้วก็สลายหายไป

ทั้งๆที่มีเวลาในการนัดหมายกันผ่าน Social Media เพียง 2 วันเท่านั้น

ทั้งๆที่ไม่มี “ผู้จัด” ไม่มี “ผู้รับผิดชอบ”

ถามว่าเนื้อหาที่ปรากฏและสำแดงออกมาผ่าน 1 ชั่วโมงแห่งปรากฎการณ์มีเป้าหมายหรือไม่

จากเสียงที่เปล่งออกมาว่า “ออกไป ออกไป”เด่นชัด

เด่นชัดว่าใครหรืออะไรคือตัว “เรียกแขก”ก่อให้เกิดอาการ”ทัวร์ลง”

ผลสะเทือนอันตามมาคือความหลากหลายในการประเมิน

 

อาจเป็นเพราะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ประเมินว่าปรากฏการณ์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ณ สกายวอล์ก ปทุมวัน เสมอเป็นเพียงน้ำจิ้ม เสมอเป็นเพียงการอุ่นเครื่อง

“ของจริง”จะเห็นได้ในปี 2563

จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตตามมาหลายหลายแนวทาง เริ่มจาก นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะนำประชาชนลงจาก”สกายวอล์ก” ไปต่อสู้บนท้องถนนหรือไม่

จากนั้นก็ตามมาด้วยการไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยแต่ก็เห็นด้วยอย่างห่วงหาอาทร

ด้านหลักเป็นจินตภาพอันมาจากแต่ละความจัดเจนของแต่ละคน หากมิใช่เดือนตุลาคม 2516 ก็เดือนพฤษภาคม 2535 ก็ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นต้น

โดยที่ยังไม่รู้ว่าปรากฏการณ์ในปี 2563 จะเป็นอย่างไร

 

หากติดตามฟังแต่ละถ้อยคำไม่ว่าจะมาจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะมาจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองในปี 2563

ทั้ง 2 ก็ไม่สามารถให้ “คำตอบ” อันแน่ชัดได้เช่นเดียวกัน

เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะนับ แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา

เด่นชัดว่า สังคมประเทศไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ต่างจากเมื่อ ปี 2516 เมื่อปี 2535 เมื่อปี 2549 เมื่อปี 2553 หรือแม้กระทั่งปี 2557

ฤดูกาลเปลี่ยน คนเปลี่ยน การเมืองก็ต้องเปลี่ยน