E-DUANG : บทเรียน กรณี ปั๊นจั่น ปรมะ บทเรียน กรณี เอ๋ ปารีณา

กรณีของ “ปั๊นจั่น ปรมะ” ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบไปยังกรณีของ “เอ๋ ปารีณา”โดยอัตโนมัติ

เริ่มต้นจากพื้นที่ในทาง”วัฒนธรรม”

แล้วบานปลายกลายเป็นประเด็นในทาง “การเมือง”อันแหลมคม

ทั้งยังชี้ชัดออกทางด้าน”เศรษฐกิจ”

เพราะความเจ็บปวดอย่างลึกซึ้งในกรณีของ”ปั๊นจั่น ปรมะ”คือ การไม่ให้การสนับสนุนต่อภาพยนต์ที่กำลังฉายอยู่ในโรง กลายเป็นความอ้างว้างโดดเดี่ยว

ขณะเดียวกัน ในทาง”โซเชียล มีเดีย”กลับแตกแยกสาขาออกมาเป็น “รีแอ็คชั่น”อย่างคึกคัก

นี่คือเส้นทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ

 

ยังไม่มีใครสามารถสรุปออกมาได้ว่าความล้มเหลวในเรื่องรายได้ของภาพยนต์ที่ ปั๊นจั่น ปรมะ รับบทเป็นตัวเอกมีสาเหตุเนื่องจากอะไร

เป็นเพราะภาพยนต์ไม่มี “สาร” ที่จูงใจคนดูเท่าที่ควร

หรือเป็นเพราะแรงกระทบจากปฏิกิริยาการเลือกข้างแบ่งฝ้ายในทางการเมือง

เพราะ”โพสต์”ของ ปั๊นจั่น ปรมะ มีความแจ่มชัด

แจ่มชัดตั้งแต่ร่วมกับทีมของ”บุพเพสันนิวาส”เข้าให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทำเนียบรัฐบาล และต่อมาแสดงทัศ นะที่ไม่ให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง

ยิ่งภายหลังการเลือกตั้งทัศนะของ ปั๊นจั่น ปรมะ ยิ่งอวยให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และวางเป้าหมายไปยังกระแส”ฟ้ารักพ่อ”อย่างไม่ปิดบัง

จึงไม่เพียงแต่พวกเสื้อแดงเท่านั้นหากแต่น้องใหม่ที่ชมชอบกับสีส้มก็มีความเป็นเอกภาพในการปฏิเสธ ปั๊นจั่น ปรมะ อย่าง พร้อมเพรียงกัน

ผลที่สุดก็คือ ปั๊นจั่น ปรมะ เป็นเป้าในการระบายอารมณ์

 

ลักษณะ”ร่วม“อย่างสำคัญจากกรณีของ “เอ๋ ปารีณา”มายังกรณีของ “ปั๊นจั่น ปรมะ” คือ เป้าหมายที่ต้องการโจมตีในเบื้องต้นได้เกิดการแปรเปลี่ยน เป็นการแปรเปลี่ยนในลักษณะ”หอกสนองคืน”

นั่นก็คือ แทนที่เป้าหมายจะราบคาบ กลับกลายเป็นว่าเจ้าของโพสต์นั่นเองที่ราบคาบ

กลายเป็นเหยื่ออันร้อนแรงในโลกออนไลน์